"เรือดำน้ำ"กับจินตนาการในยุค ร.ศ.112

การเมือง
7 พ.ค. 60
11:07
3,865
Logo Thai PBS
 "เรือดำน้ำ"กับจินตนาการในยุค ร.ศ.112
เรือดำน้ำกับจินตนาการในยุค ร.ศ.112 ในมุมของ ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็นความเห็นการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกจากจีน

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านยุทธ ศาสตร์การรบและสงคราม อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน วงเงิน 36,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยเดินทางไปลงนามเซ็นสัญญาจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี 

 

ไทยต้องมีเรือดำน้ำเทียบเท่าเพื่อนบ้านเพื่อนรักษาสมดุล

ผมคิดว่า อาวุธ ไม่ใช่ว่า ถ้าเพื่อนบ้านมีแล้วเราต้องมีจึงจะเกิดสมดุล มันมีนัยยะที่ถกเถียงกันได้พอสมควร เวลาเพื่อนบ้านมีต้องถามว่าใครมี คำตอบคือ อินโดนีเซียมีก่อน สิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนาม มองแต่ละประเทศมันตอบได้ ในความเป็นประเทศเกาะหรือประเทศที่มีชายฝั่งยาว จำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ สิงคโปร์อธิบายได้ ในการใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อศึกษาขยายเป็นอุตสาหกรรมอาวุธ เวียดนามขยายกองเรือดำน้ำได้เร็ว ตามแผนมีความต้องการเรือดำน้ำ 6 ลำ คือเรือชั้น Kilo ของรัสเซีย ผู้นำไทยที่บอกว่า เพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำ 10 ลำ ไม่มี ประเทศที่มีมากที่สุดถ้าครบคือเวียดนาม 6 ลำ แต่เวียดนามมันตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ นั่นคือสมดุลระหว่างเวียดนามกับ แรงกดดันจากจีน

สมมติถ้าไทยต้องมีเพราะเพื่อนบ้านมี ผมคิดว่ามันไม่ตอบโจทย์การซื้ออาวุธ ถ้าคิดอย่างนี้แสดงว่าน้ำหนักทางยุทธศาสตร์ หรือการวางแผนสงคราม เราเชื่อว่า เพื่อนบ้านคือข้าศึก หลายปีที่ผ่านมาผมเริ่มไม่เชื่อว่าเพื่อนบ้านคือข้าศึก โจทย์เดิมใช้อธิบายไม่ได้ ถ้าเพื่อนบ้านคือข้าศึก ไม่รู้ว่า ประชาคมอาเซียน มีไปทำไม และมีอีกเวทีคือ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมของอาเซียน

ถ้าคิดว่าเรือดำน้ำเป็นสมดุล ไม่ตอบโจทย์สำหรับไทย เรือดำน้ำไม่ได้มีไว้เพื่อการสำรวจใต้สมุทร ใครที่อธิบายว่า เรามีเรือดำน้ำไว้สำรวจ เรือดำน้ำมีเพื่อภารกิจเดียวคือการรบ หรือภารกิจการลาดตระเวณทางทะเล แต่ต้องถามว่า ผลประโยชน์และปัญหาของไทยในทะเลอยู่ตรงไหน ผมคิดว่า ปัญหาที่เราเผชิญภัยคุกคามทางทะเล อยู่ในเขตชั้นในที่ใกล้เรา เราอาจจะมีภารกิจในทะเลหลวงอยู่บ้าง แต่โจทย์ของไทยไม่ใช่ทะเลหลวง

อ่าวไทยเสี่ยงถูกปิด ต้องมีเรือดำน้ำไว้ให้ยำเกรง

ผมคิดว่านี่คือ จินตนาการ ร.ศ.112 ปี ค.ศ.1893 ที่ฝรั่งเศสปิดอ่าว ที่จริงก็ไม่ถึงขั้นนั้น เรามีจินตนาการเหมือนกับเชื่อว่า การปิดอ่าวของฝรั่งเศสในยุครัชกาลที่ 5 เพราะปากอ่าวแคบ แต่ผมคิดว่า ในโลกสมัยใหม่การปิดอ่าวไม่ง่าย ถ้าถึงขั้นนั้น คือ สงครามใหญ่ และถ้ารัฐมหาอำ นาจใหญ่ปิดอ่าว ผมว่า เราไม่มีขีดความสามารถในการตอบโต้ แม้จะมีเรือดำน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่าวไทยเป็นทะเลน้ำตื้น ผมไม่เชื่อว่า เหมาะกับการใช้เรือดำน้ำปฏิบัติการ อากาศยานที่ติดโซน่าร์ลาดตระเวณทางอากาศเพื่อปราบเรือดำน้ำผมว่าทำได้ และทำได้ง่าย 

ยกเว้นอธิบายว่า มีจินตนาการประมาณยุครัชกาลที่ 5 หรือหวนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เราเคยมีเรือดำน้ำ 4 ลำที่เราได้จากญี่ปุ่น ต้องถามกลับว่า 4 ลำนั้นได้ปฏิบัติการจริงอะไร 

 

 

กองทัพเรืออธิบายว่า 4 ลำ เป็นฮีโร่ในช่วงสงครามโลก

ผมคิดว่าของจริงไม่มีสงครามในอ่าวไทย สงครามในอ่าวไทยมีการรบยุทธนาวีที่เกาะกูด เกาะช้าง อยู่ประมาณหนึ่ง แต่ช่วงสงครามโลก อเมริกัน หรือฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่ได้ใช้ ถ้าบอกว่าใช้เรือดำน้ำในการปฏิบัติการ อย่าลืมว่า เราเห็นการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นในอ่าวไทย 


โจทย์ใหญ่กว่า ที่เป็นปัญหาความมั่นคงทางทางทะเล ตัวอย่างเช่น ขบวนการค้ามนุษย์ในทะเล เช่นโรฮิงญา เราเห็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเล มีโจทย์ที่เป็นปัญหาความมั่นคงใหม่ๆเยอะขึ้น แต่ทั้งหมดผมคิดว่า ปัญหาความมั่นคงทางทะเลไม่ใช่โจทย์ใหญ่ของไทย และไม่ใช่โจทย์ที่อยู่ในทะเลหลวง ความโชคดีทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยสำคัญที่สุด วันนี้เราไม่ใช่รัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ผมว่านั่นเป็นความโชคดี ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้อย่างไรไม่ว่า หมู่เกาะสแปรตลีย์ หรือ พาราเซล ไม่มีประโยชน์ที่กองทัพเรือไทยจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าจุดเริ่มต้นในทะเลจีนใต้กลายเป็นสงคราม ก็หวังว่ารัฐบาลไทยจะฉลาดพอที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

แล้วอะไรจะตอบโจทย์ความมั่นคงไทย 

ผมเห็นแย้งกับบรรดานักเรือดำน้ำนิยม ผมคิดว่า ทรัพยากรทางทหารทุกประเทศมีจำกัด โดยเฉพาะประเทศเล็ก เราไม่มีเงินที่จะซื้อทุกอย่างที่อยากได้ แล้วจะซื้ออะไร ผมให้ความสำคัญกับผิวน้ำ เนื่องจากอ่าวไทยเป็นน้ำตื้น ผมเชื่อว่า เราน่าจะมีเรือฟริเกตมากขึ้น อาจจะเป็นเรือฟริเกตติดอาวุธ ให้ครอบคลุมพื้นที่ผิวน้ำได้มากขึ้น ผมไม่กลัวเรือดำน้ำในอ่าวไทย เพราะเป็นน้ำตื้น สามารถใช้เรือรบผิวน้ำ หรือใช้อากาศยาน ล่าหรือปราบเรือด้ำนำ เชื่อว่าทำได้ ถ้าบอกว่าซื้อเรือดำน้ำเพื่อฝึกปราบเรือดำน้ำ เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าที่สุด คำอธิบายชุดนี้ไม่มีเหตุผลพอ

ผมอยากเห็นการพัฒนาอำนาจทางทะเลของไทยฝั่งอันดามัน ถ้าเชื่อว่า โลกอนาคตความเติบโตทางทะเลไม่ใช่แค่แปซิฟิก ถ้ามองแต่แปซิฟิก เราจะละเลยความเติบโตในมหาสมุทรอินเดียทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง หลังจากสึนามิ ผมว่าเราพัฒนาขีดความสามารถทางทะเลฝั่งอันดามันน้อยมาก เราวางน้ำหนักทางยุทธศาสตร์ฝั่งอ่าวไทยเป็นหลัก แต่ในสภาวะที่เรามีชายฝั่ง 2 ด้าน ต้องตอบโจทย์ว่า จำเป็นแค่ไหนต้องออกปฏิบัติการในทะเลหลวงไกลๆ ปัญหาใหญ่ในพื้นที่ทะเลยังอยู่ที่ชายฝั่ง เราต้องการเครื่องมือในการลาดตระเวณควบคุมพื้นที่ทางทะเล ถามว่า แล้วเรือดำน้ำจะทำอะไรกับเรือที่ส่งโรฮิงญา การค้าสินค้าเถื่อน หรือโจทย์ใหญ่อีกอย่างคือเรือสลัด หรือการปล้นสะดมในทะเลจีนใต้ เกิดแถวบ้านเรา เรือดำน้ำไม่ใช่คำตอบ หรือถ้าเรามีฐานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ผมเชื่อว่า เรือดำน้ำไม่ใช่คำตอบสำหรับการคุ้มครองฐานขุดเจาะ


แต่เราต้องมีกำลังรบทุกมิติ ทั้ง ใต้น้ำ ผิวน้ำ และในอากาศ

เรามีสิทธิฝัน ในแต่ความฝันต้องตอบภารกิจที่เป็นจริง คำตอบชัดที่สุด ที่จริงไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ คือเรือหลวงจักรีนฤเบศร เราลงทุนขนาดใหญ่ กับการมีเรือบรรทุกเครื่องบิน วันนี้พอเปิดบัญชีอาวุธ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ถามตรงๆกองทัพเรืออย่าโกธรนะ แล้วตกลงเรือใช้ได้จริง แล้วอากาศยานที่เราเชื่อว่าจะมีขีดความสามารถการรบทางอากาศจากภาคผิวน้ำระยะไกล ใช้เรือบรรทุกเป็นเครื่องมือต่อระยะของปฏิบัติการทางอากาศที่ใช้ฐานเป็นเรื จักรีนฤเบศร คือคำตอบ ว่าสุดท้ายผลประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ก็ไม่ชัดเจน ผลประโยชน์ในทางยุทธการ กลายเป็นอะไรที่เราไม่ได้ใช้ เพราะฉะนั้นการลงทุนซื้อเรือดำน้ำ มีลำเดียวไม่ได้จะเริ่มมีปัญหา ต้องซื้อต่อ แต่ซื้อต่อก็ต้องสร้างอู่ต่อ กินกันเป็นทอดๆในแง่งบประมาณ ที่ต้องเตรียม

ตกลงกองทัพเรือ ตัดสินใจแล้วหรือไม่ที่จะไม่ใช้ ปฏิบัติการทางอากาศสำหรับการควบคุมทางทะเล เนื่องจากเราไม่เห็นการพัฒนาศักยภาพของเครื่องบินทางทะเล ของกองทัพเรือ ทั้งที่ๆก่อนหน้านี้เราลงทุนกับจักรีนฤเบศร รวมถึงการจัดซื้อเครื่องบินที่เข้าประจำการในกองทัพเรือ ผมเชื่อว่า ปัจจุบันอากาศยานเหล่านั้นหมดสภาพไปแล้ว เหลือแต่เครื่องบินที่เป็นอนุสรณ์ บินจริงไม่ได้ หรือเหลือแต่จักรีนฤเบศรซึ่งก็ใช้ไม่ได้


ซื้อเรือดำน้ำหรือซื้อความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย – จีน

ผมพูดเสมอว่าอาวุธไม่ใช่สินค้าพลเรือนปกติ ไม่เหมือนเราซื้อรถเก๋งใช้ส่วนตัว ระบบอาวุธขนาดใหญ่คือสินค้าทางการเมือง มันไม่ใช่การซื้ออาวุธ แต่มันคือการซื้อพันธมิตรทางการเมือง ในอดีตเราก็ทำอย่างนี้กับสหรัฐฯ ใช้อาวุธสหรัฐฯ แต่ที่เราเริ่มเห็นหลังรัฐประหารปี 57 เราเห็นรถถังจีน เรือดำน้ำจีน การฝึกร่วมผสมกับจีน ที่เห็นชัดคือการเดินทางเยือนจีนของผู้นำระดับสูงทั้งที่เป็นทหารในฝ่ายการเมือง และทหารในกองทัพ รัฐประหารปี 57 ส่งสัญญาณที่แตกต่างจากรัฐประหารครั้งอื่น เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐประหารไม่ว่าจะเกิดอย่างไรก็ตาม มันไม่มีนัยยะ เปลี่ยนทิศทางของนโยบายทางยุทธศาสตร์ไทยเปลี่ยนจากค่ายหนึ่งไปค่ายหนึ่ง แต่รอบนี้ชัด

เราเคยมีประสบการณ์ไม่ดี ในอดีตเราเคยซื้อรถถังเบา ชุดหนึ่งคือ Stingray และเป็นการซื้อโดยที่ไม่มีประเทศอื่นซื้อเลย เราเป็นประเทศแรกที่ซื้อ วันนี้เชื่อว่าคนในกองทัพบกตอบได้ดีกว่า เกิดอะไรขึ้นกับ Stingray สุดท้ายเราไม่ได้ใช้ ทั้งหมดผมเชื่อว่า มันคือนโยบายทางการเมือง

 

ทำไมนักวิชาการส่วนหนึ่งมักจะวาดภาพจีนเป็นผู้ร้าย


ในสถานการณ์โลกเวลาที่เราวิจารณ์ ผมคิดว่า เราไม่อยากเห็นการเลือกข้างมากกว่า คนยุคผม สู้กับการที่เราอยู่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากเกินไป หวังว่าจะคลายออก แต่เราไม่ได้บอกว่าให้เลิกคบ วันนี้สิ่งที่น่ากลัวคือ ผมไม่อยากเห็นการเลิกคบแล้วไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นไปได้ไหม รัฐ บาลไทยแทนที่จะสร้างสมดุลด้านอาวุธ ผมอยากเห็นมากกว่าคือสมดุลในนโยบายด้านความมั่นคง ที่เราสามารถยืนได้ทั้งกับสหรัฐฯและจีน ผมคิดว่าในความเป็นประเทศเล็ก ไทยไม่ควรเลือกข้าง เรามีบทเรียนในช่วงสงครามเย็น แต่ผมไม่แน่ใจว่าผู้นำทหารปัจจุบัน ตระหนักถึงบทเรียนเดิมที่เคยมีในอดีตหรือไม่ การวิจารณ์ที่ว่าเราเข้าไปหาจีนมากเกินไป ผมคิดว่า เราอาจจะมีความจำเป็นต้องหาเข้าจีน แต่ขอมีระยะห่างสักนิดได้หรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง