ส่งมอบ "โคซี่ มาร์ค โฟร์"เครื่องบินลำแรกเป็นครูฝึกซ่อมบำรุง

Logo Thai PBS
ส่งมอบ "โคซี่ มาร์ค โฟร์"เครื่องบินลำแรกเป็นครูฝึกซ่อมบำรุง
สวทช. มอบเครื่องบิน รุ่นโคซี่ มาร์ค โฟร์ ( Cozy Mark IV ) ให้มหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพฯ ใช้ฝึกซ่อมบำรุงเพื่อสร้างบุคลากรรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมการบินโลก

วันนี้ (8 พ.ค.2560) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อานวยการ สวทช. ส่งมอบเครื่องบิน Cozy Mark IV (โคซี่ มาร์ค โฟร์ )ชนิด Composite (คอมโพสิท) 4 ที่นั่ง ให้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ พร้อมระบุว่า เครื่องบินลำดังกล่าวนับเป็นเครื่องบินลำแรกของไทยที่ประกอบโดยเยาวชนและสามารถใช้งานได้จริง และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าในอุตสาหกรรมการบินจึงส่งมอบให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพใช้ประโยชน์ต่อไป

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า ขอขอบคุณทาง สวทช.ที่ส่งมอบเครื่องบิน Cozy Mark IV ชนิด Composite 4 ที่นั่ง ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มาใช้ในการสอนหลักสูตรในการฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การมาตรฐานการบินยุโรป เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมอุตสาหกรรมการบินร้อยละ 70 ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับใบประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ และสามารถนำไปประกอบอาชีพ และต่อยอดเป็นใบอนุญาตตามมาตรฐาน EASA ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินมีการเติบโตอย่างสูงทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมดังกล่าวและได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพขึ้น โดยขณะนี้เปิดอบรมทั้งสิ้น 3 รุ่น จำนวน กว่า 35 คน

 

 

ชี้อนาคตธุรกิจอุตสาหกรรมการบินเติบโต 

นายสาธิต กล่าวว่า  จากข้อมูลการคาดการณ์ของยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมการบิน ทั้งโบอิ้ง และแอร์บัส พบว่าปริมาณเครื่องบินจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในปี 2015 ตัวเลขล่าสุดของเครื่องบินทั้งโลกอยู่ที่ ประมาณ 20,000 ลำ และในอีก 20 ปีหรือในปี 2034 จะมีการเติบโตขึ้นอีก 36,000 ลำ ซึ่งต้องการบุคลากรที่ในอุตสาหกรรมการบินจำนวนมาก ทั้งนักบิน พนักงานต้อนรับ ไปจนถึงช่างซ่อมอากาศยานที่ต้องบำรุงรักษาเครื่องบินมี่ต้องการกว่า 58,000 อัตรา โดยในภูมิเอเชียแปซิฟิกต้องการช่างซ่อมบำรุงกว่า 200,000 อัตรา หรือ ปีละ 10,000 คนซึ่งถือว่าตลาดมีความต้องการแรงงานสูงอย่างมาก

ขณะที่นายรวัลรัตน์ ศิลพิวงค์ ผู้เข้าอบรมโครงการช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน กล่าวว่า ตอนแรกตนเองได้เรียนในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ และเมื่อทราบว่ามีการรับสมัครอบรมในโครงการดังกล่าวเนื่องจากมองว่ามีอนาคตที่ดี อัตราการรองรับงานที่สูงมาก รวมถึงรายได้ที่ค่อนข้างดีมาก จึงตัดสินใจสมัครเข้าอบรมหลังจากเรียนในระดับอุดมศึกษาไปแล้ว 2 ปีแล้ว ซึ่งเมื่อเรียนก็สนุกและมีความท้าทายรวมถึงอาจารย์มีความตั้งใจในการสอนอย่างมาก

สอดคล้องกลับนายปิยะ ปิยรัตนกุลวงศ์ ผู้เข้าอบรมอีกรายหนึ่งที่ระบุว่า ก่อนหน้านี้ตนเองประกอบอาชีพเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อได้ทราบข่าวว่ามีการเปิดรับสมัครช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน จึงมาสมัคร เนื่องจากมีญาติที่ทำงานในสายงานช่างเป็นแรงบันดาลใจ เนื่องจากเป็นงานที่มีอนาคตและรายได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อมีใบรับรอง และใบอนุญาตของ EASA ก็ยิ่งสร้างโอกาสในสายงานที่ดีและรายได้อาจสูงถึง 200,000 บาท 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง