"ประจิน" ยืนยันเดินหน้า "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา" แต่ให้กรมเจ้าท่าศึกษาผลกระทบใหม่

เศรษฐกิจ
11 มิ.ย. 58
11:28
257
Logo Thai PBS
"ประจิน" ยืนยันเดินหน้า "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา" แต่ให้กรมเจ้าท่าศึกษาผลกระทบใหม่

วันนี้ (11 มิ.ย.2558) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล แน่นอน แต่สั่งให้กรมเจ้าท่าทบทวนและให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2559 ด้านอธิบดีกรมเจ้าท่าระบุ หากไม่ทำความเข้าใจและก่อสร้างภายในรัฐบาลชุดนี้ให้ยกเลิกโครงการ

พล.อ.อ.ประจินเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา จ.สตูล ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) กลับไปทบทวนโครงการดังกล่าวใหม่ โดยให้นำกลับมาเสนอทางเลือกหลายแนวทางจากเดิมที่เสนอแนวทางเดียว คือ ให้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการคัดค้านจากคนท้องถิ่นและนักสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก

รมว.คมนาคมระบุว่า จท.จะต้องศึกษาผลดีผลเสียให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่ เช่น ประเด็นทางสังคมและความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากไทยสามารถใช้ท่าเรือปากบาราเป็นทางออกสู่ทะเลได้หากเกิดปัญหาในช่องแคบมะละกาในอนาคต  และเบื้องต้นได้จัดสรรงบกลางปี 2558 จำนวน 50 ล้านบาท ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำไปใช้ในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment หรือ SEA) ให้แล้วเสร็จและนำกลับมาเสนอภาย ใน 11 เดือนหรือภายในวันที่ 30 เม.ย.2559
 

"ระหว่างนี้ จท. จะต้องนำรายละเอียดโครงการเสนอให้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านความมั่นคง และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อนำมาข้อมูลมาประกอบการจัดทำ SEA และนำข้อมูลไปใช้ในการศึกษาทบทวนการสำรวจออกแบบรายละเอียด รวมทั้งจะมีการจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2558 โดยขอจัดสรรงบประมาณปี 2559-2560 รวม 120 ล้านบาทมาใช้ในการศึกษา” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

                         

<"">

นอกจากนี้ รมว.คมนาคมยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการขึ้น โดยมอบหมายให้นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธานคณะทำงาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบแนวทางในการชี้แจงและทำความเข้าใจรายละเอียดโครงการให้ประชาชนในพื้นที่เห็นถึงประโยชน์ของโครงการด้วย

"รัฐบาลจะสร้างท่าเรือดังกล่าวแน่นอนแต่ขอให้เสนอโครงการเข้ามาใหม่ให้รอบคอบขึ้น ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะจะทำเป็นท่าเรือสีเขียว ส่งเสริมการขนส่ง ท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าเกษตร ยืนยันว่าจะไม่มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในบริเวณดังกล่าวแน่นอน  รวมทั้งท่าเรือดังกล่าวยังมีประโยชน์ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าทางเรือออกสู่ทะเลอันดามันของไทยโดยที่ไม่ต้องผ่านไปยังช่องแคบมะละกาซึ่งปัจจุบันพบว่ายังมีปัญหาการก่อการร้ายอยู่" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

นายจุฬากล่าวว่า การศึกษาเอสอีเอจะต้องครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นพื้นที่บริเวณโดยรอบท่าเรือด้วย  เช่น  โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าเข้ามามายังท่าเรือปากบารา ระยะทาง 80 กม. และเส้นทางรถไฟเชื้อจากท่าเรือสงขลาไปยังท่าเรือปากบารา (แลนด์บริดจ์)  ระยะทางประมาณ 180 กม.

"โครงการนี้มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2538 ขณะที่การจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2552แล้ว แต่มีประชาชนคัดค้านต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการได้แม้ว่าจะผ่านมา 20 ปีแล้ว เราเห็นว่าหากท่าเรือปากบาราไม่สามารถก่อสร้างได้ภายในรัฐบาลนี้ ก็ควรที่จะยกเลิกโครงการไปเลย เพราะจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ที่กำหนดไว้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท" นายจุฬากล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง