กรมชลประทาน เปิดแผน "บายพาสน้ำ"ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

ภัยพิบัติ
9 พ.ค. 60
11:35
3,204
Logo Thai PBS
กรมชลประทาน เปิดแผน "บายพาสน้ำ"ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
กรมชลประทาน ชงเสนอแผน กนช.แก้น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เผยมี 9 แผนตัดยอดน้ำฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำบายพาสระบายน้ำหลาก คาดว่าจะใช้วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท

วานนี้(8พ.ค.2560) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทาน ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างแล้วเสร็จ โดยนำเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่โครงสร้างระบบชลประทานที่มีอยู่ ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากจำนวนมหาศาลได้ มาใช้เป็นโจทย์ในศึกษา ทั้งนี้พร้อมนำเสนอข้อมูลแผนงานในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา

จากการศึกษาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พบว่า มีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมากเกินปริมาณน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะรองรับได้ เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทราว 1,800 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวินาที ดังนั้นหากจะไม่ให้เหตุการณ์มหาอุทกภัยเกิดขึ้นอีก จะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำจำนวนดังกล่าว เพื่อระบายออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษาพบว่า จะต้องดำเนินงานทั้งหมด 9 แผนงานด้วยกัน แบ่งออกเป็นฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แผนงาน ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แผนงาน และในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แผนงาน

สำหรับแผนงานโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออกทั้ง 3 แผนงานประกอบด้วย 1.แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งจะสามารถระบายน้ำในช่วงน้ำหลากได้ถึง ประมาณ 930 ลบ.ม.ต่อวินาที 2. แผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ ที่ระบายน้ำผ่านทางคลองระพีพัฒน์ และคลองสาขาต่างๆ รวม 23 คลอง ยาว 490 กิโลเมตร สามารถเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากสูงสุดในปัจจุบันคือ 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที และ3. แผนการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ จากแม่น้ำป่าสักลงสู่ทะเลโดยตรง สามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที

ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมี 2 แผนงานประกอบด้วย 1.แผนการเพิ่มประ สิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีน ซึ่งจะต้องมีการขุดคลองระบายน้ำหลาก(บายพาส) แม่น้ำท่าจีนบริเวญอ.โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี ขุดช่องลัดแม่น้ำท่าจีนที่มีลักษณะเป็นกระเพาะหมูจำนวน 4 แห่ง และขุดลอกแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ กิโลเมตรที่ 40 จากปากแม่น้ำขึ้นมา ซึ่งจะสามารถเพิ่มการระบายได้จาก 464 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 535 ลบ.ม.ต่อวินาที และ 2.แผนการปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานของโครงการชลประทานเดิมที่มีอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดมายังคลองพระยาบันลือ ต่อไปยังคลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองสนามชัย-มหาชัย และออกสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะสามารถระบายน้ำเพิ่มได้จาก 50 ลบ.ม.ต่อวินาทีในปัจจุบันเป็น 130 ลบ.ม.ต่อวินาที

 

เริ่มนำร่องแก้มลิงรับน้ำ 1,500 ล้านลบ.ม.

 

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา  มี 4 แผนงานคือ 1.แผนการขุดคลองระบายน้ำหลาก(คลองบายพาส)บางบาล-บางไทร เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที 2.แผนการขุดลอกลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะขุดลอกเป็นช่วงๆรวมระยะทาง 20 กิโลเมตร เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที 3.แผนการสร้างเขื่อนป้องกันชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำ ซึ่งมีจำนวน 14 แห่ง สร้างไปแล้ว 6 แห่ง เหลืออีก 8 แห่งจำเป็นจะเร่งด่วนดำเนินการ และ 4.แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบ 3 ฝั่งตะวันออก คลองสายนี้จะตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที

ขณะนี้กรมชลประทาน กรมทางหลวง และไจก้า กำลังทำการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้เบื้องต้น ก่อนจะทำการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอควบคู่กับการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนที่จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มดำเนินการในฤดูฝนปี 2560 โดยใช้แผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่จังหวัดลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และชัยนาท ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่ง จะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลบ.ม.

 

สำหรับ โครงการทั้ง 9 แผนงานสามารถแยกดำเนินงานแต่แผนงานได้ ภายใน 1-2 ปีนี้เช่น คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร คลองระบายน้ำควบคู่กับคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก เป็นต้น บางแผนงานอาจจะแยกมาดำเนินในส่วนที่ไม่มีปัญหาก่อน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ ในส่วนของการขุดลอกสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นต้น ส่วนแผนงานแผนการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ คลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบ 3 แม้ว่าจะก่อสร้างทั้งโครงการได้ แต่ก็ต้องรอผลการศึกษาอีไอเอ และคาดว่าจะใช้วงเงินราว 2.2 แสนล้านบาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง