หาทางออกจาก "สังคมคนโสด" กับนายกสมาคมวางแผนครอบครัวญี่ปุ่น

สังคม
13 พ.ค. 60
17:32
5,397
Logo Thai PBS
หาทางออกจาก "สังคมคนโสด" กับนายกสมาคมวางแผนครอบครัวญี่ปุ่น
นายแพทย์คูนิโอะ คิทามูระ นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศญี่ปุ่นระบุ ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้คนญี่ปุ่นในยุคนี้ไม่อยากแต่งงาน ไม่อยากมีลูกและเลือกที่จะอยู่เป็นโสด ผลการสำรวจชาวญี่ปุ่นอายุ 18-34 ปี พบว่าราวๆ ร้อยละ 40 ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มนับหนึ่งการแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำด้วยการเปิดตัวโครงการ "สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ" ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ประเทศญี่ปุ่นได้หาทางเพิ่มอัตราการเกิดมาแล้วนานนับ 10 ปี ขณะนี้อัตราการเกิดของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.46 คนต่อผู้หญิง 1 คน ต่ำกว่าอัตราที่ควรจะเป็นคือ 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน

นายแพทย์คูนิโอะ คิทามูระ นายกสมาคมวางแผนครอบครัวให้สัมภาษณ์ "ณัฏฐา โกมลวาทิน" ในรายการ มีนัดกับณัฏฐา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถึงสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งน่าสนใจยิ่งสำหรับสังคมไทยที่กำลังดำเนินรอยตามญี่ปุ่นในเรื่องอัตราการเกิดต่ำและการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ขณะนี้อัตราการเกิดของไทยอยู่ที่ 1.6 คน ต่อผู้หญิง 1 คน 

มีแนวทางกระตุ้นอย่างไรให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้น

นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศว่าภายในปี 2020 จะต้องเพิ่มอัตราการเกิดจาก 1.46 เป็น 1.80 ให้ได้ แต่ผมมองว่าเป้าหมาย 1.80 นั้นยังต่ำเกินไป และการที่จะเพิ่มจาก 1.46 เป็น 1.80 ในระยะเวลาอีกแค่ 3 ปีนั้นเป็นไปได้ยาก การวิจัยแนวโน้มจำนวนประชากรเมื่อปี 2559 คาดการณ์ว่าในปี 2053 จำนวนประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงจำนวนมาก สำหรับมาตรการที่จะจูงใจให้คนมีลูกมากขึ้นที่มีการทำอยู่นั้น ผมมองว่าเป็นการ "ติดกระดุมผิดเม็ด" คือ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ซึ่งหากติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดอื่นก็จะผิดไปด้วย

ขณะนี้ในระดับท้องถิ่นมีมาตรการหลายอย่างเพื่อสนับสนุนการมีลูก เช่น เมืองโตเกียวตั้งงบประมาณให้ผู้หญิงไปตรวจการตั้งครรภ์ได้ฟรี 14 ครั้ง รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือในการคลอดลูกและเลี้ยงดูลูก รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดก็มีมาตรการทำนองนี้เช่นกัน ตลอดจนให้เงินสนับสนุนในการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์สำหรับผู้ที่มีลูกยาก และสนับสนุนให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กที่เพียงพอและค่าใช้จ่ายต่ำสำหรับพ่อแม่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่มันจะทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายหรือเปล่านั้นผมก็ไม่แน่ใจ เพราะสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อัตราการเกิดในญี่ปุ่นต่ำนั้นไม่ได้อยู่ที่ผู้หญิงไม่มีลูก แต่เป็นเพราะคนญี่ปุ่นเป็นโสดกันมากขึ้น ซึ่งยืนยันได้จากผลการสำรวจของสมาคมฯ เมื่อเร็วๆ นี้ที่พบว่า จำนวนคนที่ญี่ปุ่นที่ไม่แต่งงาน หรืออยู่เป็นโสดเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน

คุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนครอบครัวโดยเฉพาะ อยากทราบว่าสาเหตุที่คนญี่ปุ่นไม่ยอมแต่งงานคืออะไร

ผมสงสัยว่าขณะนี้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการแต่งงานหรือเปล่า และคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้บอกให้ลูกๆ รู้ถึงความสุขและข้อดีของการแต่งงานหรือไม่

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การสำรวจพบว่า แม่ที่มีลูกโดยยังไม่ได้แต่งงานนั้นมีแค่ร้อยละ 2 เท่านั้นจากจำนวนคุณแม่ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ต่ำเมื่อเทียบกับในประเทศตะวันตกอย่างเช่นฝรั่งเศสหรือเดนมาร์กที่ผู้หญิงมีลูกโดยไม่แต่งงานถึงร้อยละ 5-6 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลพร้อมให้การดูแลเด็กที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้แต่งงาน คือ ถึงแม้ว่าเด็กจะเกิดมาโดยที่พ่อแม่ไม่ได้แต่งงานกันก็ไม่มีปัญหาทางสังคมและการเงิน และเติบโตมาได้อย่างปกติ แต่สำหรับญี่ปุ่น ทัศนคติของคนในสังคมและกฎระเบียบต่างๆ ไม่เอื้อต่อการมีลูกหากว่ายังไม่แต่งงาน คือ ถ้าจะมีลูกก็ต้องแต่งงาน การมีลูกโดยไม่แต่งงานนั้นเป็นเรื่องผิดปกติ และเด็กที่เกิดมาก็จะมีชีวิตที่ไม่ค่อยดีนัก

กลับมาที่ผลการสำรวจที่ผมพูดถึงนะครับ เราสอบถามคนญี่ปุ่นอายุ 18-34 ปี ว่าอยากแต่งงานหรือไม่ พบว่าคนส่วนใหญ่คือร้อยละ 80 บอกว่าอยากแต่งงาน นอกจากนี้ยังถามความเห็นถึงข้อดีของการแต่งงาน ซึ่งพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้หญิงและผู้ชายมีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ผู้หญิงรู้สึกว่าการแต่งงานทำให้เธอมีสภาพทางการเงินที่มั่นคงขึ้น แต่ผู้ชายไม่คิดอย่างนั้น ส่วนในเรื่องของความสุข ผู้หญิงบอกว่าแต่งงานแล้วมีความสุขน้อย แต่ผู้ชายบอกว่ามีความสุขมากขึ้น ผมมองว่าตราบใดที่ความเห็นตรงนี้ไม่สอดคล้องกันก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้หญิงชายแต่งงานกัน

 

ผมขอเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังสักหน่อย ผมเองแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย คือ ตั้งแต่อายุ 23-24 ปี ตอนนี้แต่งงานมา 40 กว่าปีแล้ว มีลูก 5 คนและหลาน 7 คน ผมเคยทำการสำรวจถึงเหตุผลที่คนแต่งงาน พบว่ามีหลายเหตุผลคือ เพื่อการสืบนามสกุล เพื่อหาคนมาใช้ชีวิตร่วมกันและดูแลกันยามแก่เฒ่า เพื่อการมีเซ็กซ์ เพื่อให้มีอีกคนมาร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายในชีวิต แต่ถ้าถามผมตอนนี้ ผมก็เห็นว่าการสืบสกุลนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมาก ส่วนเรื่องคนที่จะมาอยู่ดูแลกันยามแก่นั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าผมเจ็บป่วย ภรรยาจะมาช่วยดูแลผมหรือเปล่า และผมก็ไม่แน่ใจว่าสภาพสังคมในเวลานี้เหมาะสมที่จะให้เด็กเติบโตขึ้นมาหรือไม่ หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ส่งผลให้คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งรู้สึกกังวลต่ออนาคตว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะเป็นยังไง ส่วนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นั้น ในอดีตคนจะมีเพศสัมพันธ์กันได้ก็ต่อเมื่อแต่งงานกันแล้วเท่านั้น แต่สมัยนี้ไม่ต้องแต่งงานก็มีเพศสัมพันธ์กันได้ สรุปได้ว่า ความหมายของการแต่งงานในอดีตกับในปัจจุบันนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนสมัยนี้มักคิดว่าอยู่คนเดียวสบายกว่า ทำงานคนเดียว กินคนเดียวดีกว่า ซึ่งต่างจากคนสมัยก่อนที่คิดว่าเมื่อแต่งงานแล้วจะมีคนมาช่วยกันทำงานหาเงิน ช่วยกันทำงานบ้าน

สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อัตราการเกิดในญี่ปุ่นต่ำนั้นไม่ได้อยู่ที่ผู้หญิงไม่มีลูก แต่เป็นเพราะคนญี่ปุ่นเป็นโสดกันมากขึ้น ซึ่งยืนยันได้จากผลการสำรวจของสมาคมฯ เมื่อเร็วๆ นี้ที่พบว่า จำนวนคนที่ญี่ปุ่นที่ไม่แต่งงานหรืออยู่เป็นโสดเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน

สื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศที่มีแพร่หลายมีผลทำให้คนมีลูกน้อยลงหรือไม่

สิ่งเหล่านี้อาจทำให้คนมีความสัมพันธ์ทางเพศกันน้อยลง เพราะได้รับความพึงใจจากสื่อเหล่านั้นแล้ว แต่อย่าลืมนะครับว่าเซ็กซ์ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการแต่งงาน เพราะฉะนั้นสื่อพวกนี้อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้คนไม่แต่งงานกัน  

เรื่องอัตราการเกิดต่ำเป็นปัญหารุนแรงแค่ไหน และต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนหรือไม่
การจะส่งเสริมให้คนแต่งงานและมีลูกกันมากขึ้นนั้นมันเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ละคนก็มีความต้องการในชีวิตที่แตกต่างกัน จึงตอบได้ยากว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะมาบอกให้แต่งงานกันเถอะ แล้วคนจะลุกขึ้นมาแต่งงาน

ผมขอหยิบยกข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาให้ฟังอีกข้อนะครับ คือ เมื่อถามว่าเมื่อแต่งงานแล้วกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด คนส่วนใหญ่ตอบว่าเรื่องการเงิน และเมื่อสอบถามวัยรุ่นที่ยังไม่แต่งงานว่าอยากให้รัฐบาลสนับสนุนด้านไหนถึงจะทำให้แต่งงานและมีลูก ส่วนใหญ่ก็ตอบว่าอยากให้สนับสนุนเรื่องการเงินอีกเช่นกัน ข้อมูลนี้บอกเราได้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของคนในยุคนี้ก็คือเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การสำรวจยังพบด้วยว่าร้อยละ 40 ของคนอายุ 18-34 ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง ซึ่งความเป็นจริงก็คือกว่าที่คนจะมีเพศสัมพันธ์หรือแต่งงานกันได้นั้นก็ต้องใช้เวลา มีการออกเดทกัน พัฒนาความสัมพันธ์ สร้างความประทับใจกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินไม่น้อยเพื่อสร้างความประทับใจ ผมจึงมองว่าปัญหาเรื่องเงินนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้คนเลือกที่จะอยู่คนเดียวมากขึ้น

 

วิธีการแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำในญี่ปุ่นนั้น ผมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำมากที่สุดก็คือ ทำให้คนรุ่นใหม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น มีการงานและรายได้มั่นคง และมีโอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิตเพราะทั้งหมดนี้จะทำให้คนรู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตและอยากจะแต่งงาน สร้างครอบครัวมากขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่ควรนำมาคิดคือ สถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี หรือ การก่อการร้ายในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้คนไม่อยากมีลูกด้วยหรือไม่ ผมเองก็มองไม่เห็นเลยว่าใครจะอยากมีลูกในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง รัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมที่จะต้องร่วมมือกันสร้างญี่ปุ่นให้เป็นประเทศแห่งความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เขาจะมีความสุขในชีวิต มองเห็นอนาคตที่สดใส เมื่อมีสังคมดี มีชีวิตที่ดีและมีความหวัง คนก็น่าจะอยากมีลูกมากขึ้น

ชมรายการ มีนัดกับณัฏฐา - นัดนี้ที่ญี่ปุ่น: ถอดบทเรียนมีลูกเพื่อชาติ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง