"ข้อผิดพลาด" ของการศึกษาสิงคโปร์ในสายตานักวิชาการอาวุโส "คิชอร์ มาห์บูบานี"

สังคม
20 พ.ค. 60
10:00
11,058
Logo Thai PBS
"ข้อผิดพลาด" ของการศึกษาสิงคโปร์ในสายตานักวิชาการอาวุโส "คิชอร์ มาห์บูบานี"
ศาสตราจารย์คิชอร์ มาห์บูบานี คณบดีสถาบันนโยบายสาธารณะ ลี กวน ยู ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) นักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของสิงคโปร์และของภูมิภาคอาเซียน ให้สัมภาษณ์ "ณัฏฐา โกมลวาทิน" ในรายการ "มีนัดกับณัฏฐา" ถึงระบบการศึกษาของสิงคโปร์

การศึกษาของสิงคโปร์กำลังเป็นม้ามืดแซงหน้าประเทศอื่นๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป แทบทุกครั้งที่มีการจัดอันดับความเป็นเลิศด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ล่าสุดพบว่าเด็กสิงคโปร์ทำคะแนนได้สูงสุดทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ขณะที่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ครองอันดับ 1 มาแล้ว 2 ปี ซ้อน ศาสตราจารย์คิชอร์บอกว่าการจัดอันดับเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์นั้นแข็งแกร่งและสมบูรณ์แบบจริง แต่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสิงคโปร์ยังจัดกระบบการศึกษาแบบเดิมที่เคยทำมาตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ก็อาจจะต้องพบกับความล้มเหลว

  • อาจารย์คิดว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์มีความพิเศษอย่างไร

สิงคโปร์โชคดีมากที่เรามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งยืนยันได้จากผลการประเมินของ PISA ที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนสิงคโปร์ทำคะแนนได้เป็นอันดับหนึ่งในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบการศึกษาให้ดีเลิศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือ การให้ความสำคัญกับครูและผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ซึ่งมักจะได้ค่าตอบแทนสูง เพราะครูที่เก่งจะทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้เรายังเรียนรู้จากระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ และนำสิ่งดีๆ มาปรับใช้ในระบบการศึกษาของเรา ถึงตอนนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนและทั่วโลกจะมาเรียนรู้จากประสบการณ์ของสิงคโปร์

  • อาจารย์บอกว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์นั้นดี แต่ทำไมเด็กสิงคโปร์จำนวนมากถึงยังต้องไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา

ผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่โรงเรียนสิงคโปร์สอนในห้องเรียนนั้นเพียงพอแล้ว แต่มีคำหนึ่งในสิงคโปร์ที่เรามักใช้กันนั่นคือคำว่า kia-su ซึ่งแปลว่าห่วงกังวลมากเกินไป ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของพ่อแม่ชาวสิงคโปร์คือ พวกเขากดดันลูกเรื่องการเรียนมาก พวกเขากังวลมากเกินไปว่าลูกๆ จะได้รับความรู้ไม่พอในห้องเรียน พวกพ่อๆ แม่ๆ ก็เลยส่งลูกไปเรียนกวดวิชา ทั้งวิชาเลข ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ฯลฯ เพราะเหตุนี้โรงเรียนกวดวิชาจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งผมเห็นว่าการเรียนกวดวิชาเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย มันมากเกินไป ผมคิดว่าความผิดพลาดอย่างหนึ่งของพ่อแม่ชาวสิงคโปร์คือเขากดดันลูกๆ มากเกินไป เมื่อเด็กๆ ต้องใช้เวลาไปกับการทำการบ้านหรือเรียนพิเศษมากๆ เข้า พวกเขาก็จะหมดสนุกกับการศึกษา และไม่รักการอ่านหนังสือ

ผมคิดว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าสังคมสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการเรียนพิเศษน้อยลง และปล่อยให้เด็กๆ มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะการอ่านหนังสือเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเด็ก ซึ่งผมดีใจที่กระทรวงศึกษาของสิงคโปร์ตระหนักถึงเรื่องนี้แล้ว และพยายามส่งเสริมให้เด็กๆ มีเวลาว่างมากขึ้น 

 

  • แสดงว่าการเรียนกวดวิชาไม่ใช่สิ่งที่เด็กๆ ในประเทศอื่นควรทำตามสิงคโปร์ใช่ไหมคะ

ใช่ครับ ผมคิดว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนของสิงคโปร์นั้นดีมาก และเป็นอะไรที่ประเทศอื่นๆ ควรมาเรียนรู้จากเรา แต่ในส่วนที่เด็กๆ ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าเอาอย่าง ผมคิดว่าเราต้องโน้มน้าวให้พ่อแม่ชาวสิงคโปร์กดดันลูกให้น้อยลงและปล่อยให้พวกเขาได้ใช้จินตนาการ อ่านหนังสือ และเล่มเกมมากขึ้น 

  • ขอถามถึงเรื่องชีวิตการเรียนของอาจารย์หน่อยค่ะ ทราบมาว่าอาจารย์เปลี่ยนเส้นทางจากการเรียนเศรษฐศาสตร์มาเรียนวิชาปรัชญา เพราะอะไรคะ 

สมัยที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย ชั้นเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์น่าเบื่อมาก เพราะอาจารย์ชอบให้ท่องจำตำราเรียน แต่พอผมลองเข้าเรียนวิชาปรัชญา ผมรู้สึกสนุกมาก อาจารย์ไม่สอนให้ท่องจำ แต่กระตุ้นให้นักศึกษาตั้งคำถามและคิดอย่างท้าทาย ผมก็เลยดร็อปวิชาเศรษฐศาสตร์แล้วมาลงเรียนวิชาปรัชญา ซึ่งนั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของผม เพราะผมได้ใช้ทักษะในการตั้งคำถามและอภิปรายในการทำงานเป็นนักการทูตในกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ตลอดระยะเวลา 33 ปี

  • ดูเหมือนว่าสิงคโปร์จะเน้นความเป็นเลิศด้านการศึกษาของเด็ก แต่ความเป็นเลิศด้านการศึกษานี้ทำให้เด็กๆ อยู่รอดในโลกแห่งความเป็นจริงหรือเปล่า

นี่เป็นคำถามที่ตรงจุดมาก สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการสร้างประเทศอย่างดีเยี่ยมในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่สิงคโปร์ฉลองครบรอบ 50 ปี วันประกาศอิสรภาพ ผมเขียนบทความไว้ว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เราพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในอีก 50 ปีต่อจากนี้ ถ้าเรายังทำอย่างที่เคยทำมาในช่วง 50 ปีที่แล้ว เราจะพบกับความล้มเหลว เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลง เราต้องสมมติฐานใหม่เกี่ยวกับความสำเร็จ และต้องตั้งเป้าหมายใหม่ ในเรื่องการศึกษา เราจะต้องให้เด็กๆ ตั้งคำถามมากขึ้น อภิปรายมากขึ้นในห้องเรียน 

 

 

  • แสดงว่าความสำเร็จของสิงคโปร์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่อาจการันตีความสำเร็จในอนาคตได้

ถูกต้องที่สุด และสิ่งที่อันตรายที่สุดที่สิงคโปร์เผชิญอยู่ในขณะนี้คือ การยึดติดอยู่กับความสำเร็จในอดีต ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "Can Singapore Survive?" ว่าจะเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงมากถ้าสิงคโปร์ลอกสูตรความสำเร็จของในช่วง 50 ปีแรกมาใช้ในการพัฒนาประเทศในอีก 50 ปีต่อจากนี้ เพราะโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลในช่วง 30 ปีต่อจากนี้มากกว่าในที่เคยเปลี่ยนในช่วง 3,000 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นสิงคโปร์ซึ่ง
เป็นประเทศเล็กๆ ต้องปรับตัวให้ทัน

  • แล้วระบบการศึกษาของสิงคโปร์ต้องปรับตัวแค่ไหนคะ

ผมคิดว่าเราอาจจะไม่ต้องปรับมากในเรื่องของระบบการศึกษา แต่สิ่งที่ต้องปรับตัวมากคือระบบเศรษฐกิจ เพราะตอนนี้สิงคโปร์พึ่งพาการลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติจำนวนมากที่มาลงทุนในสิงคโปร์ แต่ตอนนี้ประเทศอื่นๆ ก็ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ไม่แพ้สิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา บังคลาเทศ กัมพูชา ฯลฯ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำก็คือ ต้องสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (entrepreneurs) ซึ่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะต้องมีความสามารถเฉพาะตัวบางอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือความพร้อมที่จะล้มเหลว เพราะก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องผ่านความล้มเหลวมาก่อน ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมสิงคโปร์มองว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องไม่ดี แต่ตอนนี้เราต้องมองความล้มเหลวในแง่บวก คนสิงคโปร์ต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า ความล้มเหลวเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ 

การเรียนการสอนในห้องเรียนของสิงคโปร์นั้นดีมาก และเป็นอะไรที่ประเทศอื่นๆ ควรมาเรียนรู้จากเรา แต่ในส่วนที่เด็กๆ ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนพิเศษนั่นไม่ใช่สิ่งที่น่าเอาอย่าง ผมคิดว่าเราต้องโน้มน้าวให้พ่อแม่ชาวสิงคโปร์กดดันลูกให้น้อยลงและปล่อยให้พวกเขาได้ใช้จินตนาการ อ่านหนังสือ และเล่มเกมมากขึ้น
  • อาจารย์คิดว่าประเทศไทยจะเรียนรู้อะไรจากสิงคโปร์ได้บ้างในเรื่องการศึกษา

สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศ (execellence) เรามุ่งมั่นที่จะเป็นเลิศในทุกๆ ด้าน ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ เพราะเราต้องเป็นเลิศ ความมุ่งมั่นที่จะเป็นเลิศนั้นเป็นจุดแข็งของระบบการศึกษาสิงคโปร์ อีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จากความสามารถของแต่ละคน (meritocrcy) กล่าวคือ เด็กทุกคนเข้ามาเรียนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเด็กคนไหนเก่ง ก็จะได้รับการสนับสนุนให้เก่งยิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อให้เขาได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยน่าจะเรียนรู้จากสิงคโปร์ 

 

  • ดูเหมือนว่าเด็กไทยจะเน้นการเรียนแบบสบายๆ มากกว่า

ผมคิดว่าคงจะดีถ้าเราผสมผสานความสบายๆ แบบไทยๆ เข้ากับความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ อันที่จริงสิงคโปร์ก็น่าจะผ่อนคลายลงหน่อยเพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการ แต่ถึงที่สุดแล้วผมก็คิดว่าระบบการศึกษาของสิงคโปร์นั้นดีอยู่แล้ว และเด็กๆ ก็ทำผลการเรียนได้ดี และเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ เป็นเรื่องดีที่ประเทศไทยจะมาดูตัวอย่างจากระบบการศึกษาของสิงคโปร์ รวมทั้งเรียนรู้จากความผิดพลาดของเราด้วย เพื่อที่ว่าไทยจะไม่ต้องทำผิดพลาดเหมือนเรา

ชมรายการมีนัดกับณัฏฐา นัดนี้ที่สิงคโปร์ : การศึกษาแถวหน้า บนความท้าทาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง