เตือนรับมือฝนถล่มกรุงอีก 2 วัน ชี้ฝนเดือน พ.ค.หนักสุดในรอบ 26 ปี

ภัยพิบัติ
31 พ.ค. 60
10:32
3,133
Logo Thai PBS
เตือนรับมือฝนถล่มกรุงอีก 2 วัน ชี้ฝนเดือน พ.ค.หนักสุดในรอบ 26 ปี
ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เตือนกรุงเทพฯ เตรียมรับมือฝนหนักอีก 2 วัน ชี้ฝนตก พ.ค.สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 26 ปี คาดเกิดจากความร้อนสะสม ด้าน กรมชลฯ มั่นใจน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 2554

วันนี้ ( 31 พ.ค.2560 ) กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ในช่วงวันที่ 31 พ.ค. - 5 มิ.ย.นี้ ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนลดลง แต่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนบริเวณอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ขณะที่ พายุดีเปรสชั่น “โมรา” บริเวณตอนบนของประเทศเมียนมา ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนยังคงมีกำลังแรง

 

 

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครยังมีโอกาสค่อนข้างสูงอีก 1 วัน ที่จะมีปริมาณฝนมากกว่า 60 - 100 มิลลิเมตร ในวันนี้ (31 พ.ค.) และวันที่ 1 มิ.ย.นี้ อาจมีฝนปานกลางรวมถึงภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง จะมีฝนมากทั้งหมดและประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มิ.ย.จะเริ่มเบาลง

สำหรับฝนตกในกรุงเทพช่วงเดือน พ.ค.สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 26 ปี เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งพายุโมรา และหย่อมความกดอากาศต่ำอีกหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีผลจากอุณหภูมิความร้อนและฝุ่นละออง เป็นแกนเหนี่ยวนำเมฆจากภายนอกเข้ามา ทำให้ฝนตกมากขึ้น เมื่อความชื้นวิ่งมาเจอความร้อน และยกตัวขึ้นสูงจึงเกิดเป็น "ฮีตโดม" ปกคลุมเมือง และหลังจากฝนหยุดตกอากาศจะอบอ้าวทันที ประกอบกับรถติดมากจะเพิ่มความร้อน

 

 

ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวเร่งทำให้ฝนเพิ่มขึ้นในเมืองหลวง โดยประเทศไต้หวันได้ทำวิจัยแล้ว พบว่า ความร้อนสะสมในตัวเมืองไทเปเพิ่มฝนได้ ร้อยละ 30 - 40 ส่วนของไทย กำลังเริ่มทำการวิจัย ซึ่งต้องช่วยกันหาทางออกให้ถูกจุด

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนตกชุกระยะนี้เป็นปกติตามฤดูกาล ปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย อีกทั้งสภาวะอากาศอยู่สถานะเป็นกลางไม่ใช่ลานีญ่าเหมือนปี 2554 จากการคาดการณ์ลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เดือน มิ.ย.-ก.ค.2560

 

 

นอกจากนี้ จะเกิดฝนทิ้งช่วงจากนั้นเดือน ส.ค.-ต.ค.2560 จะเป็นช่วงฝนชุกอีกครั้ง แต่ปริมาณฝนจะไม่มากเท่าปี 2554 นอกจากนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนและลำน้ำธรรมชาติยังมีปริมาณน้อยสามารถรับน้ำได้มาก จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดอุทุกภัยใหญ่ตามที่หลายฝ่ายกังวล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง