กรมป่าไม้ เล็งฟื้น "เขาหัวโล้น"แม่สอด 2,541 ไร่จากไร่ข้าวโพดสู่ป่าชุมชน

สิ่งแวดล้อม
1 มิ.ย. 60
10:49
1,393
Logo Thai PBS
กรมป่าไม้ เล็งฟื้น "เขาหัวโล้น"แม่สอด 2,541 ไร่จากไร่ข้าวโพดสู่ป่าชุมชน
เร่งฟื้นป่าต้นน้ำแม่สอด จ.ตากปลูกป่าชุมชน ตั้งเป้า 3 ปีเปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นพื้นที่สีเขียว พร้อมเปิดฐานฟื้นฟูป่าแห่งแรก คาดปีนี้ปลูกป่าเพิ่มอีก 89,000 ไร่

วันนี้(1 มิ.ย.2560) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า หลังจากกรมป่าไม้ ได้ทวงคืนพื้นทีป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สอด ที่บ้านหัวฝาย อ.แม่สอด จ.ตาก ป่าต้นน้ำที่เคยมีสภาพป่าสมบูรณ์ และเป็นแหล่งทุ่งโจ้โว้ หรือแหล่งน้ำผุด แต่หลังจากปี 2545 ถูกบุกรุกเป็นไร่ข้าวโพดกว่า 7,000 ไร่และกลายเป็นเขาหัวโล้นอย่างชัดเจน โดยหากมองจากเครื่องบินลงมาจะเห็นภาพชัดเจนว่ามีความเสื่อมโทรมมาก และถ้าปล่อยให้มีสภาพนี้ในอนาคตจะเกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากเข้าเมืองแม่สอดโดยตรง 

นายชลธิศ บอกว่า เบื้องต้นจะปลูกป่า 2,541 ไร่ ก่อนโดยใช้รูปแบบใหม่ที่เรียกว่าปลูกป่าชุมชน ปลูกป่ากินได้ และป่าเศรษฐกิจผสมผสานกัน เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมจำนวน 500,000 กล้า และเริ่มปลูกตั้งแต่ฤดูฝนนี้ และตั้งเป้าจะเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นสีเขียวภายในปี 2562 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งวันนี้จะปลูกฟื้นฟูป่าต้นน้ำเนื้อที่ 70 ไร่

 

ขณะเดียวกัน ยังได้ตั้งฐานปฏิบัติการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ 1(แม่สอด) เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลป่าที่มีการปลูกร่วมกับชาวบ้าน จากเดิมที่กรมป่าไม้เมื่อทวงคืนมาแล้ว หลังจากปลูกแล้วจะพบปัญหาชาวบ้านและกลุ่มนายทุนกลับมาบุกรุกเหมือนเดิม เพราะไม่มีการดูแลต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรมป่าไม้ยังมีแผนปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพ 13 จังหวัด เนื้อที่ 65,912 ไร่ และปลูกฟื้นฟูในพื้นที่ที่เหลืออีก 25 จังหวัด เนื้อที่ 23,567 ไร่ รวม 38 จังหวัดทั่วประเทศ เนื้อที่รวม 89,479 ไร่

ด้านนายจงคล้าย วรพงศธร ผอ.สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ บอกว่า รูปแบบการปลูกป่าให้เกิดความยั่งยืน จะปรับ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การประชุมสร้างความร่วมมือจนถึงการลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุการขอใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมนำกลับมาฟื้นฟูสภาพป่า

 

 

 

ส่วนการปลูก การปลูกตามพื้นที่ต่างๆ 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ปลูกเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ด้วยการใช้พันธุ์ไม้ป่าดั้งเดิมควบคู่กับการปลูกไม้ที่ให้ผลเก็บกินได้ และไม้ใช้สอยเกิดเป็นป่าธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ และการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องของกลุ่มเกษตรกรรูปแบบวนเกษตร เน้นไม้เศรษฐกิจที่ตัดไม้เพื่อส่งขายยังโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ ซึ่งในพื้นที่แม่สอด มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต้องการไม้เศรษฐกิจเข้าสู่โรงงาน

ชาวบ้านรายหนึ่งในที่เข้าร่วมปลูกป่า บอกว่าเริ่มเห็นผลกระทบทุกครั้งที่ฝนตกลงมา จะมีดินโคลนลงมาในลำน้ำเป็นสีแดง และน้ำไหลแรงขึ้น เนื่อง จากป่าต้นน้ำแม่สอดมีความเสื่อมโทรม จึงอยากเห็นการเปลี่ยนพื้นที่นี่ให้กลับมาเป็นป่าสีเขียว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง