ไร้ข้อยุติไกล่เกลี่ย "หมอลืมเข็ม" ในช่องท้อง 12 ปี

สังคม
2 มิ.ย. 60
20:16
522
Logo Thai PBS
ไร้ข้อยุติไกล่เกลี่ย "หมอลืมเข็ม" ในช่องท้อง 12 ปี
การเจรจาระหว่างผู้เสียหาย ที่ถูกแพทย์ลืมเข็มไว้ในมดลูกเกือบ 12 ปี กับโรงพยาบาลปากช่องนานา จ.นครราชสีมา ยังไม่ได้ข้อยุติ ทั้งสถานพยาบาลแห่งใหม่ที่จะไปผ่า และเรื่องการเยียวยา แต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ยืนยันว่า โรงพยาบาลจะต้องเจรจาจนกว่าจะยุติปัญหาได้

วันนี้(2 มิ.ย.2560) ทีมแพทย์โรงพยาบาลปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา แถลงแสดงความรับผิดชอบ และกล่าวขอโทษต่อหญิงผู้เสียหายกรณีแพทย์ลืมเข็มที่ใช้ในทางการแพทย์ในช่องท้อง ขณะผ่าคลอดเมื่อปี 2548

นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผอ.โรงพยาบาลปากช่องนานา ระบุว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ได้ชี้แจงว่า เข็มที่ติดอยู่ในช่องท้อง ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และทางโรงพยาบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด พร้อมกับประสานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นผู้ผ่าตัดนำเข็มออกจากช่องท้อง แต่ผู้เสียหายต้องการผ่าตัดโรงพยาบาลค่ายสุรนารี เนื่องจากมั่นใจในบุคลากรทางการแพทย์ ความพร้อมอุปกรณ์ และมองว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยน้อย

ผู้เสียหาย ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้พยายามติดต่อเจรจาขอความช่วยเหลือจากทางโรงพยาบาล ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บางคน ทำให้เครียดและร้องเรียนผ่านเพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง ทำให้ทางโรงพยาบาลออกมารับผิดชอบรวมทั้งได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว

โดยหลังจากนี้จะปรึกษากับญาติ และครอบครัวว่าจะเลือกผ่าตัดกับโรงพยาบาลใด และจะเรียกร้องค่าชดเชย ระหว่างที่ต้องหยุดงาน 2-3 เดือน เพื่อเข้ารับการผ่าตัด ก่อนที่จะเจรจากับโรงพยาบาลอีกครั้ง

 

 

ด้านนายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า กรณีนี้ได้มอบหมายทางโรงพยาบาลปากช่องนานา เจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหาย จนกว่าจะยุติปัญหาได้

ด้านนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งได้พูดคุยกับผู้เสียหายมาแล้วก่อนหน้านี้ บอกว่ามี 3 ช่องทาง ที่ผู้เสียหายจะทำได้ โดยสิ่งที่ควรทำอันดับแรก คือ ผ่าตัด เพราะเริ่มได้รับผลกระทบจากการที่มีเข็มตกค้างอยู่บ้างแล้ว ถัดมา ควรยื่นขอ รับความช่วยเหลือตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว ผู้เสียหายสามารถประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้แล้ว จึงสามารถยื่นขอรับเงินเยียวยาความเสียหาย จากโรงพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง