สัมภาษณ์พิเศษ เลขาธิการ คกก.ส่งเสริมการลงทุนเมียนมา: ทำธุรกิจในเมียนมาไม่ใช่เรื่องยาก

ต่างประเทศ
3 มิ.ย. 60
18:03
894
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์พิเศษ เลขาธิการ คกก.ส่งเสริมการลงทุนเมียนมา: ทำธุรกิจในเมียนมาไม่ใช่เรื่องยาก
ออง เนียง อู (U Aung Naing Oo) เลขาธิการคณะกรรมาธิการด้านการลงทุนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ยอมรับว่ารัฐบาลของนางออง ซาน ซู จี ต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแต่ก็มีความหวังว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะโตแบบก้าวกระโดดในปีนี้

นายออง เนียง อู ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ "มีนัดกับณัฏฐา" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส วันที่ 2 มิ.ย.2560 ถึงความเปลี่ยนแปลงด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ที่นักลงทุนไทยควรรู้ พร้อมกับวิเคราะห์ความท้าทายทางเศรษฐกิจของเมียนมาภายใต้รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการบริหารประเทศ

ภาพรวมเศรษฐกิจของเมียนมาเป็นอย่างไรบ้าง

เศรษฐกิจของเมียนมากำลังอยู่ในช่วงปฏิรูป มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เราทำไปแล้ว และก็มีส่วนที่กำลังทำอยู่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การลงทุนถือเป็นปัจจัยหลักของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเมียนมา หน่วยงานของผมคือ Myanmar Investment Commission (MIC) กำลังเร่งส่งเสริมการลงทุน ทั้งการลงทุนในประเทศและจากต่างประเทศ

หากพูดถึงตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ ปีที่แล้ว (2559) อยู่ที่ 6.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปีนี้ ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2560 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ มีการลงทุนของธุรกิจต่างชาติมากกว่า 665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นได้ว่าการลงทุนในประเทศเมียนมาโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปีนี้ก็จะมีการลงทุนจากต่างชาติที่ขออนุมัติจาก MIC มากขึ้น

ตั้งแต่พรรค NLD เข้ามาบริหารประเทศในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาภาพรวมการลงทุนของเมียนมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญก็คือการปรับปรุงกฎหมายและสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน รัฐบาลนี้ได้ออกกฎหมายด้านการลงทุนใหม่ในปี 2559 ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาสภาพแวดล้อมการลงทุนในเมียนมา นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมาย รัฐบาลยังเดินหน้าปรับปรุงนโยบายด้านการลงทุนซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ MIC ก็รับนโยบายมาดำเนินการต่อ สิ่งเหล่านี้นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุน

กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อนักลงทุนบ้าง

เหตุผลสำคัญของการออกกฎหมายการลงทุนใหม่ก็เพื่อทำให้ขั้นตอนการลงทุนในเมียนมาทำได้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้นสำหรับนักลงทุนรายใหม่ๆ ที่ผ่านมาเรามีกฎมายการลงทุน 2 ฉบับ ได้แก่ กฎมายการลงทุนของธุรกิจเมียนมา และกฎหมายการลงทุนของธุรกิจต่างชาติ กฎหมายใหม่ที่ออกมานั้นไม่ใช่แค่รวมกฎหมายเดิมทั้งสองฉบับเข้าด้วยกัน แต่มีการยกระดับการสนับสนันการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ในกฎหมายเก่า ถ้าธุรกิจนั้นเข้าข่ายที่ต้องขออนุมัติการลงทุนจาก MIC ผู้ประกอบการจะต้องร่างโครงการเสนอต่อ MIC และต้องมีเอกสารประกอบมากมาย หลังจากนั้น MIC ก็จะส่งเรื่องไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และปรึกษากระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติ จากนั้นจึงส่งโครงการกลับมาที่ MIC อีกครั้งเพื่อรอการอนุมัติ ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา มีความซับซ้อน มีระเบียบแบบแผนมากมาย แต่ภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ระบบการขออนุมัติจะง่ายขึ้นเพื่อชักจูงให้นักลงทุนเข้ามามากขึ้น เช่น หากเป็นโครงการขนาดเล็กและไม่มีผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ต่อประเทศ เช่น ไม่ต้องใช้ที่ดินหรือสถานที่ของรัฐ ก็ไม่ต้องขออนุมัติจาก MIC รวมทั้งหากเป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการขออนุมัติจาก MIC เช่นกัน นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนได้เลย มีเพียงการลงทุนบางชนิดเท่านั้นที่ต้องทำเรื่องขออนุมัติกับ MIC นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบการลงทุนของเมียนมา ที่เน้นให้เกิดการลงทุนง่ายขึ้น

นอกจากนี้เรายังเพิ่มแรงจูงใจทางภาษี เมื่อก่อนเรามีมาตรการลดหย่อนภาษี 5 ปีสำหรับการลงทุนทุกประเภท โดยไม่ขึ้นอยู่กับขนาดของการลงทุนหรือลักษณะการดำเนินธุรกิจ แต่ตอนนี้เราเน้นการสร้างแรงจูงใจทางภาษีที่ขึ้นอยู่กับภาคการลงทุนที่เป็นที่ต้องการ รวมทั้งพื้นที่การลงทุนที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การลงทุนในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยพัฒนา จะได้รับการลดหย่อนภาษีที่เยอะกว่าการลงทุนในพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว เพราะเราต้องการกระจายการพัฒนาให้ทั่วถึง

รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญกับการลงทุนภาคด้านใดเป็นพิเศษ

ปัจจุบันเราเน้นสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอันดับแรก เพราะการเพิ่มอัตราการจ้างงานเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล นอกจากนี้เรายังเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งเมียนมากำลังต้องการอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบไฟฟ้า ถนน รถไฟ ฯลฯ อันดับต่อมาคือการลงทุนด้านการเกษตร เพราะผลผลิตทางเกษตรนับเป็นสิ่งสำคัญของประเทศ โดยประมาณ 70 เปอร์เซนต์ของชาวเมียนมาทำงานเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับภาคเกษตร อีกด้านคือการลงทุนด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเมียนมามีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

รัฐบาลเมียนมาเน้นเรื่องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ช่วยอธิบายเพิ่ม

เมื่อพูดถืงการส่งเสริมการลงทุน เราไม่ได้เน้นเพียงเรื่องการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่เรายังมองถึงเรื่องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ นั่นหมายถึงการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม เน้นเรื่องการลงทุนที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของคนในประเทศ ไเราม่สนับสนุนการทุจริตและการกระทำที่ไม่โปร่งใส นอกจากนี้เรายังเน้นให้เกิดการลงทุนที่ทำให้เกิดกลไกการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี การสร้างงานให้กับคนในประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เราต้องการการลงทุนที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งความผิดพลาดในอดีตของเราเอง ทำให้เราได้ข้อสรุปที่สำคัญต่อการพัฒนาการลงทุนในอนาคตของประเทศ ว่าเราควรให้ความสำคัญด้านไหน

ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาสูงสุด 5 อันดับแรกคือประเทศอะไร

5 อันดับแรก คือ จีน สิงค์โปร์ ไทย ฮ่องกง และเกาหลี สำหรับประเทศที่มีความกระตือรือร้นในการลงทุนมากคงเป็นนักลงทุนจากสิงค์โปร์ รัฐบาลสิงค์โปร์เองก็สนับสนุนให้นักลงทุนสิงค์โปร์เข้ามาลงทุนในเมียนมาผ่านการมีการทำข้อตกลงทวิภาคีระหว่างสองประเทศ

ศักยภาพของนักลงทุนไทยเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ
นักลงทุนไทยค่อนข้างกระตือรือร้นในการเข้ามาลงทุนในเมียนมา เนื่องจากไทยกับเมียนมามีวัฒนธรรมที่คล้ายๆ กัน ดังนั้นนักลงทุนไทยจึงโดดเด่นด้านการลงทุนในธุรกิจบริการ นอกจากนี้ SME ไทยก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาเยอะ ข้อได้เปรียบสำคัญของนักลงทุนไทยก็คือเดินทางสะดวก เดินทางโดยเครื่องบินเพียง 1 ชั่วโมงก็ถึงย่างกุ้งแล้ว

มีข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาชะลอตัวลงในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการบริหารงานของรัฐบาลหรือไม่

รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ใหม่มากที่เข้ามาบริหารประเทศ ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะยังไม่มีประสบการณ์การบริหารมากนัก จึงถือเป็นความท้าทายอย่างมากในการบริหารจัดการคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมาถือเป็นก้าวแรกของรัฐบาลที่อยู่ในช่วงเรียนรู้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็คือ ในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เมียนมาเท่านั้นที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ หลายประเทศก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน แต่เมียนมายังถูกซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจและการลดลงของจีดีพีที่ต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ อย่างไรก็ดีรัฐบาลเองก็เห็นปัญหาและยอมรับ และพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ และหวังว่าปีนี้เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เราต้องการการลงทุนที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งความผิดพลาดในอดีตของเราเอง ทำให้เราได้ข้อสรุปที่สำคัญต่อการพัฒนาการลงทุนในอนาคตของประเทศ ว่าเราควรให้ความสำคัญด้านไหน

คิดว่าอะไรเป็นความท้าทายของการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา

เมียนมามีอุปสรรคและความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เราต้องการระบบไฟฟ้าที่พอเพียงไม่เฉพาะกับการใช้งานในภาคครัวเรือน แต่ต้องเพียงพอต่อภาคการลงทุนเรายังต้องการถนน ท่าเรือ สนามบิน โทรคมนาคม ระบบอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ นอกจากนี้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ศักยภาพแรงงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตอนนี้แรงงานส่วนมากเป็นแรงงานที่ขาดทักษะ และสุดท้ายคือการพัฒนาโครงสร้างทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการพัฒนาด้านอื่นๆ

คำแนะนำถึงนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนไทยที่สนใจจะมาลงทุนในเมียนมา

สำหรับนักลงทุนไทย อยากแนะนำว่าควรพิจารณาการลงทุนบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เพราะเรามีพรมแดนที่ยาวมาก นักลงทุนไทยส่วนใหญ่จะเน้นเข้ามาลงทุนที่ย่างกุ้งและเมืองใหญ่อื่นๆ จึงอยากให้พิจารณาการเข้าไปลงทุนในพื้นที่อื่นอย่างบริเวณชายแดน ตอนนี้เรากำลังจัดระบบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตามแนวตะเข็บชายแดน เช่น เมียวดี อยากแนะนำให้นักลงทุนไทยดูความเป็นไปได้ในการลงทุนในพื้นที่เหล่านี้ เพราะการเดินทางใกล้ สะดวก อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่ที่จะมีงานทำ โดยไม่ต้องเดินทางไปหางานในพื้นที่อื่น ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญที่เราเห็นว่าเป็นการลงทุนที่มีคุณภาพ สำหรับเราและคนไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับนักลงทุนประเทศอื่น ผมจะเน้นเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งในบางครั้งก่อให้เกิดปัญหาระหว่างพนักงานชาวเมียนมากับเจ้าของธุรกิจ ดังนั้นวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติต้องคำนึงถึง

ชลัญธร โยธาสมุทร : สัมภาษณ์และเรียบเรียง

ชมย้อนหลังรายการมีนัดกับณัฏฐา - นัดนี้ที่เมียนมา: จับชีพจรเศรษฐกิจยุคเปลี่ยนผ่าน (2 มิ.ย.2560)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง