ประชาชนหวั่นย้ายกลับหมอชิตเก่า กระทบการสัญจร

สังคม
8 มิ.ย. 60
07:04
11,351
Logo Thai PBS
ประชาชนหวั่นย้ายกลับหมอชิตเก่า กระทบการสัญจร
ไทยพีบีเอสสำรวจสภาพการจราจร หลัง ก.คมนาคม มีแนวคิดย้าย รถโดยสาร บขส.บางส่วนมาให้บริการที่สถานีขนส่งหมอชิตเก่า โดยประชาชนส่วนใหญ๋วิตกกังวลว่าจะทำให้การจราจรติดขัด

แนวคิดการย้าย บขส. จะเห็นได้ว่ามีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งแรกที่ต้องหลีกทางให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อใช้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงจนถึงล่าสุดมีแนวคิดที่จะให้ย้ายไปที่ย่านรังสิตแต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมากและประชาชนได้รับความเดือดร้อนจนถึงครั้งล่าสุดกระทรวงคมนาคมยืนยันแนวคิดว่าจะกลับไปใช้พื้นที่สถานีขนส่งหมอชิตเดิม

สถานีขนส่งหมอชิต เดิมตั้งอยู่ใกล้กับสถานีบีทีเอสหมอชิต ก่อนย้ายจะย้ายไปบริเวณที่ตั้งในปัจจุบัน เพื่อหลีกทางให้ บ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส และเมื่อกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดสร้างสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง จึงมีแนวคิดหาพื้นที่ใหม่ให้สถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อคืนพื้นที่ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมกับมีข้อเสนอให้ย้ายไปพื้นที่ย่านรังสิต

แต่ท้ายที่สุด พื้นที่รังสิตไม่ถูกเลือก หลังผลการศึกษาพบว่า ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงกว่า 2,000 ล้านบาทในการก่อสร้างสำนักงานอาคารผู้โดยสารและสถานีขนส่ง และรูปแบบพื้นที่ไม่ตรงตามแผนการใช้ประโยชน์ รวมทั้ง ประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากการเดินทาง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมเพื่อพิจารณาสถานีกลางบางซื่อ มีมติเห็นชอบให้ บขส. ย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับมาอยู่ที่สถานีขนส่งหมอชิตเก่า โดยกระทรวงคมนาคมจะใช้พื้นที่อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงบีทีเอส เพื่อเป็นสถานีขนส่งทั้งหมดกว่า 1.1 แสนตารางเมตร อาจเป็นพื้นที่บริเวณชั้น 4 และชั้น 5ของอาคาร ส่วนชั้นบนขึ้นไปทางบีเคทีจะพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ เพื่อหารายได้เมื่อต้องย้ายสถานีขนส่งขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสาร นับเเสนคนต่อวันก็มีเสียงสะท้อนจากประชาชนที่เดินทางบริเวณนี้

เบื้องต้นแนวทางการย้ายแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยรถโดยสารสายยาวที่เดินทางไปในจังหวัดที่มีรัศมีมากกว่า 200 กิโลเมตร จะย้ายไปอยู่ในพื้นที่หมอชิตเดิมเพียงอย่างเดียว ขณะที่รถโดยสารสายสั้นที่เดินทางในจังหวัดที่มีรัศมีไม่เกิน 200 กิโลเมตร จะย้ายมาอยู่ที่สถานีกลางบางซื่อ โดยจุดนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้เลย เช่น รถโดยสาร ขสมก., รถแท็กซี่, รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง