ทหารส่ง 10 ผู้ต้องหาขายระเบิดทาง " ไปรษณีย์" ส่งตำรวจ

อาชญากรรม
9 มิ.ย. 60
11:02
2,263
Logo Thai PBS
ทหารส่ง 10 ผู้ต้องหาขายระเบิดทาง " ไปรษณีย์" ส่งตำรวจ
ทหารมณฑลทหารบกที่ 11 ส่งมอบ 10 ผู้ต้องหาในคดีลักลอบซื้อขายระเบิดส่งทางไปรษณีย์ให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังทหารคุมสอบครบ 7 วัน เร่งสอบปากคำขยายผลเพิ่ม

วันนี้ (9มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 11 ควบคุมตัวผู้ต้องหาในขบวนการส่งวัตถุระเบิดผ่านไปรษณีย์ บริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส 10 คน เป็นนายทหาร 5 นาย และพลเรือน 5 คน มอบให้กับกองปราบปราม หลังควบคุมตัวไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 ครบ 7 วัน และเมื่อมาถึงกองปราบก็ถูกคุมตัวเข้าห้องสอบสวนทันที

พ.ต.อ.สันติ ชัยนิรามัย รองผู้บังคับการกองปราบปราม เป็นผู้รับมอบตัวผู้ต้องหาทั้ง 10 คนพร้อมเปิดเผยเบื้องต้นว่า ทั้งหมดถูกส่งตัวมาพร้อมกับหลักฐานในคดี เช่น อาวุธปืน พร้อมเครื่องกระสุน วัตถุระเบิด โดยทั้งหมดจะถูกคุมตัวสอบสวน เพื่อขยายผลที่เกี่ยวข้องและที่ยังไม่ถูกจับ ส่วนอำนาจการควบคุมตัวทำได้ 48 ชั่วโมงจากนั้นจะคุมตัวไปศาลอาญา เพื่อขออำนาจฝากขังผู้ต้องหาต่อไป

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจพบกล่องพัสดุต้องสงสัยบรรจุระเบิดและเครื่องกระสุนในร้านไปรษณีย์เอกชนย่านบางเขน และพบมีการส่งพัสดุอาวุธไปตามจังหวัดต่างๆ 22 จุด ใน 15 จังหวัด จึงนำมาสู่การขยายผลจับกุมผู้เกี่ยวข้องในขบวนการ

แต่งบัญชี "ช่องโหว่"ลักลอบซื้อขายอาวุธกองทัพ

ขณะที่ไทยพีบีเอส ตรวจสอบการลักลอบนำอาวุธของกองทัพออกไปขายในตลาดมืด ที่พบเครือข่ายทหารร่วมกับพลเรือน ลักลอบค้าอาวุธและส่งวัตถุระเบิดทางไปรษณีย์ แม้กองทัพจะพยายามวางมาตรการป้องกัน แต่ก็ยังมีช่องโหว่ โดยเฉพาะการแต่งบัญชีอาวุธเพื่อลักลอบซื้อขายแลกเปลี่ยน ในกลุ่มลูกค้าทหารและพลเรือน 

ด้านพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางของวัตถุระเบิดเอ็ม 67 ที่ถูกตรวจพบ หลังใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์ถึงลูกค้า กองทัพบกพบว่า สิบเอก ธนากรณ์ บุญกาญชน์ เจ้าหน้าที่คลังอาวุธกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นผู้เกี่ยวข้องหลัก ร่วมกับทหารอีก 12 นาย และพลเรือนอีก 7

โดยในจำนวนนี้ มีทหารเกี่ยวข้องโดยตรง 3 นาย ทำหน้าที่ผู้จัดส่ง รับคำสั่งซื้อ หาอาวุธและลูกค้าซึ่งมีทั้งทหารและพลเรือน โดยในรอบ 6 เดือนนี้ มีการซื้อขายมาแล้ว 22 ครั้ง จำนวนกระสุนที่ส่งขายมากที่สุดในแต่ละครั้งคือ 100 นัด ก่อนกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามยอดการสั่งซื้อ โดยอาศัยช่องโหว่ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลควบคุมบัญชีอาวุธภายในกองทัพบก และเป็นธุรกิจสีเทาที่แฝงอยู่ในกองทัพมานาน

ด้วยวิธีการแต่งบัญชี หรือ ลงบัญชีไม่ตรงกับการใช้งานจริง หากยกตัวอย่างให้เห็นเช่น กระสุน 100 นัด ใช้งานจริง หรือ ซ้อมรบจริงเพียง 50 นัด แต่ลงรายการจำนวนกระสุนที่ใช้งาน 100 นัด ส่วนต่างของอาวุธที่เหลือ ถูกลักลอบออกมากระจายไปในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนอาวุธ โดยเป็นความร่วมมือกับทหารในหน่วยอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง