สคบ.ให้ผู้เสียหายนำหลักฐานเข้าร้องเรียน หลัง "ทรูฟิตเนส" ปิดทุกสาขาในไทย

เศรษฐกิจ
12 มิ.ย. 60
10:49
2,340
Logo Thai PBS
สคบ.ให้ผู้เสียหายนำหลักฐานเข้าร้องเรียน หลัง "ทรูฟิตเนส" ปิดทุกสาขาในไทย
สคบ.เผยผู้ที่เป็นสมาชิกทรูฟิตเนสสามารถนำหลักฐานเอกสารเข้าร้องเรียนต่อ สคบ.ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยหากพบสถานออกกำลังกายมีการทำผิดสัญญา เตรียมดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสทั้งทางอาญาและทางแพ่งทันที ขณะที่ทรูฟิตเนสปิดให้บริการทุกสาขาในประเทศไทยแล้ว

เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.2560) กลุ่มสมาชิกบริษัท ทรูฟิตเนส ประมาณ 30 คนนำหลักฐาน บัตรใช้บริการ เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของผู้ประกอบธุรกิจ บริษัท ทรูฟิตเนส ซึ่งเปิดให้บริการด้านสุขภาพ ภายหลังปิดให้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้กับสมาชิกรับทราบ ส่งผลให้สมาชิกส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าคอร์ส หรือใช้บริการได้ครบสัญญา เพราะจ่ายค่าบริการล่วงหน้าตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงหลักแสนบาท

หนึ่งในผู้เสียหายที่เป็นสมาชิก เปิดเผยว่า ได้เข้ามาเป็นสมาชิก บริษัท ทรูฟิตเนส สาขาเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก ใช้บริการสปา ได้จ่ายค่าบริการล่วงหน้าประมาณ 40,000 บาท แต่ยังใช้บริการไม่ครบคอร์ส จากนั้นถูกพนักงานขายนำโปรโมชั่นมาแนะนำ อ้างว่าต้องการทำยอดหวังผลกำไร เพื่อเลี่ยงการถูกไล่ออก จึงเห็นใจใช้บริการต่อ และเมื่อพบว่าบริษัทปิดตัวลง โดยไม่ได้มีการแจ้งให้กับสมาชิกล่วงหน้าและไม่สามารถติดต่อตัวแทนบริษัทได้

สำหรับสมาชิก ทรูฟิตเนส ที่เข้าแจ้งความกับตำรวจ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือผู้ใช้บริการเล่นฟิตเนสออกกำลังกายกับผู้ใช้บริการดูแลสุขภาพสปา มีสมาชิกจ่ายค่าบริการสูงสุดรวมประมาณ 100,000 บาท ซึ่งเป็นแพ็กเกจใช้บริการตลอดชีพ มูลค่าความเสียหายของผู้ที่เข้าแจ้งความวันนี้ กว่า 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัท ทรูฟิตเนส จำกัด เปิดให้บริการด้านสุขภาพ เริ่มก่อตั้งที่ประเทศสิงคโปร์ มีสาขาทั้งหมด 5 ประเทศ คือประเทศสิงคโปร์ จีน มาเลเซีย ไต้หวัน และไทย โดยในไทยมีบริษัทให้บริการ 3 แห่ง ประกอบด้วย สาขาอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์, ห้างสรรพสินค้าเชน แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และสาขาเอสพลานาด แคราย ทั้ง 3 แห่งได้ปิดกิจการลง และไม่มีการแจ้งเตือนให้กับสมาชิก จนนำมาสู่การร้องเรียนของกลุ่มสมาชิก

ด้านนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้ที่เป็นสมาชิกทรูฟิตเนสสามารถเข้าร้องเรียนได้ที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา ถนนแจ้งวัฒนะ พร้อมนำหลักฐานเอกสารสัญญาการสมัครเป็นสมาชิก บัตรสมาชิกและใบเสร็จรับเงินที่ทำกับทรูฟิตเนสแนบมาด้วย โดยหากเจ้าหน้าที่พบว่ามีการทำผิดสัญญา ทำให้คู่สัญญาไม่ได้รับความเป็นธรรม จะดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสทั้งทางอาญาและทางแพงทันที

ทั้งนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีประกาศเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เพื่อให้ธุรกิจให้บริการออกกำลังกายทั้งธุรกิจฟิตเนส โรงยิม สถานบริการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ ที่ให้บริการใช้สถานที่และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ให้เป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญา เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง