เวทีรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ จ.ขอนแก่น ล่ม!

สังคม
17 มิ.ย. 60
12:25
1,469
Logo Thai PBS
เวทีรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ จ.ขอนแก่น ล่ม!
เวทีรับฟังความคิดเห็นแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ เวทีที่ 3 ที่จังหวัดขอนแก่น คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ไม่สามารถเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ เนื่องจากมีกลุ่มคนรักหลักประกัน และภาคีเครือบุกขึ้นไปบนเวทีประชาพิจารณ์

วันนี้ (17 มิ.ย.2560) คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ นำโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เวทีที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ปรากฎว่า ทางเครือข่ายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และแรงงานนอกระบบ บุกขึ้นไปบนเวที พร้อมทั้งถือป้ายประท้วงภายในห้องประชุม เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไฮปาร์คบนเวทีผ่านไปกว่า 1 ชั่วโมง ทำให้ นพ.พลเดช ลงมาเจรจากับแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและภาคีเครือข่าย ซึ่งอยากให้ยกเลิกการจัดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อที่คณะอนุกรรมการฯ จะไม่ได้นำไปเป็นข้ออ้างว่า การเปิดเวทีครั้งนี้ครบองค์ประกอบ แต่ นพ.พลเดช ระบุว่า ไม่สามารถยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เนื่องจากยังมีประชาชนหลายภาคส่วน ที่ต้องการนำเสนอความคิดเห็น เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ นำไปรวบรวมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

มีนา ดวงราษี แกนนำรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กระทบต่อผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองโดยตรง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับไม่มีโอกาสได้ร่วมเวทีประชาพิจารณ์

ส่วนข้อกังวลของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. คือ การแยกเงินเดือนของกลุ่มผู้ใช้หรือผู้รับบริการ ซึ่งประเด็นนี้ อาจทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงการบริการสุขภาพ โดยเห็นว่ารัฐบาลและ สปสช.ควรกำหนดอัตราเหมาจ่ายรายหัวเช่นเดิม เพราะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็ถือว่าเป็นกลุ่มผู้เสียภาษีเช่นเดียวยกับกลุ่มข้าราชการเช่นกัน

นอกจากนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 4 สมาคม ออกแถงการณ์คัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง โดยระบุว่า ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวรณรงค์และข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกร้องให้ยุติกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และให้เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและเป็นธรรม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง