"ประวิทย์" จี้ ตร.-กสทช.สอบเชิงลึกข้อมูล-เทคนิค-เส้นทางซิม 3 แสนเบอร์

Logo Thai PBS
"ประวิทย์" จี้ ตร.-กสทช.สอบเชิงลึกข้อมูล-เทคนิค-เส้นทางซิม 3 แสนเบอร์

"ประวิทย์" กสทช. เสนอตำรวจ-สนง.กสทช. สอบเชิงลึก ข้อมูล-เทคนิค-เส้นทางซิม ชี้เป็นเรื่องผิดปกติมาก ซิมไทยกว่า 3 แสนเบอร์ ไหลรวมอยู่กับคนจีน 3 คน หลังตำรวจสระแก้วจับกุมได้พร้อมของกลางอุปกรณ์ไอทีเกือบ 40 รายการ เตือนค่ายมือถือปล่อยตัวแทนจำหน่ายลงทะเบียนซิมแทนผู้ใช้งาน เสี่ยงมีความผิดด้วยหากเป็นคดีอาชญากรรม-ความมั่นคง

 

 

สืบเนื่องจากกรณีตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จับกุมคนจีน 3 คน พร้อมของกลางเกือบ 40 รายการ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2560 ในจำนวนนี้ มีซิมโทรศัพท์กว่า 3.1 แสนเบอร์, โทรศัพท์ 500 เครื่อง, เครื่องเสียบซิมโทรศัพท์เพื่ออ่านเบอร์ (แอคซิม) จำนวนเกือบ 20 เครื่อง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้ สำนักงานงาน กสทช.สรุปว่า มีเบอร์ของกลางถูกเปิดใช้งาน และลงทะเบียน แต่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ว่าเป็นใครบ้าง แต่จะให้ค่ายมือถือส่งข้อมูลให้ตำรวจภายในสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ขอสัมภาษณ์พิเศษ "นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ต่อกรณีที่เกิดขึ้น

 

ถาม : ข้ออ้างของชาวจีนที่บอกตำรวจ เชื่อได้มากน้อยอย่างไรว่า เอาซิมโทรศัพท์ไปเปิดเบอร์ เพื่อสมัคร "วีแชท" แล้วไปกดไลค์เพจออนไลน์

นายประวิทย์ : "จริงๆ ผมอยากรู้ข้อเท็จจริงว่า ชาวจีนเอาซิมไปทำอะไรกันแน่ ซึ่งวิธีพิสูจน์ที่จะเชื่อได้คือ ต้องพิสูจน์การใช้งานมือถือ 500 เครื่องที่เป็นของกลาง, เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลาง ว่าเอาไปทำอะไร ถ้าบอกว่าโหวตผ่านซิม ทางตำรวจและกสทช.ต้องขอดูบันทึกการใช้งานซิมจากค่ายมือถือทั้ง 3 ราย (เอไอเอส - ดีแทค - ทรูมูฟเอช) เพราะข้อมูลซิมจะบอกได้ว่า โทรเบอร์ไหน รับสายเบอร์ไหน หรือเอาไปใช้ส่ง SMS ก็จะบอกได้ว่า ส่งจากเบอร์ไหน รับจากเบอร์ไหน เมื่อเวลากี่โมง..? หรือเอาไปใช้ผ่านอินเทอร์เน็ต จะบอกได้ว่าเชื่อมต่อวันที่เท่าไหร่ เวลาเท่าไหร่, ข้อมูลเชื่อมไปที่เว็บลิ้งค์ URL ไหน, เว็บไซต์ไหน หรือ เซิร์ฟเวอร์ไหน ที่คนจีนอ้างว่าเอาไปสมัคร"วีแชท" แล้วบอกว่าไม่ได้ใช้ซิม นี่เป็นความเข้าใจผิด

ซึ่งวีแชทเมื่อสมัครปุ๊ป ระบบจะต้องให้ส่ง SMS กลับมาที่ซิมเบอร์นั้นๆ แปลว่าซิมเบอร์นั้นถูกเปิดใช้แล้ว และเมื่อสมัครเสร็จก็ต้องดูด้วยว่าเขาใช้วิธีโหวตผ่านไหน ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือ ระบบSMS ตรงนี้ต้องไปตรวจสอบ จะได้รู้ว่าจริงๆแล้ว การใช้งานที่แท้จริงของคนจีนคืออะไร เราจะได้บอกเจ้าของเว็บไซด์เจ้าของเพจให้รู้ว่า มีกระบวนการโกงแบบนี้ให้หามาตรากรป้องกัน แต่ถ้าเราแค่ฟังว่า อ๋อ เขาเอาไปสมัครวีแชทแล้วจบ จะไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ ไม่เกิดกระบวนการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"

 

 

ถาม : การใช้ซิมจำนวนมากนับแสนซิมเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคง มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน มีจุดอ่อนอย่างไร

นายประวิทย์ : "สมมติเขาซื้อมากกว่า 3 แสนซิม หากสรุปว่าเขาใช้โหวตเพจอย่างเดียว เราก็ดวงดีไป แต่ถ้าเอาซิมไปใช้วางระเบิดก็อีกเรื่อง หรือเอาซิมเหล่านี้ไปโจมตีระบบดีดอทถล่มเว็บไหนของไทยหรือในต่างประเทศ โดยใช้เบอร์นี้ยิงถล่มก็จะเป็นปัญหา และถ้ามีใครหรือประเทศไหนตรวจสอบพบว่า เป็นการยิงถูกถล่มด้วยซิมจากประเทศไทยก็จะเป็นปัญหาได้ และประเทศไทยเอง ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตาติดอันดับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ว่าเป็นแหล่งปล่อยการยิงถล่ม

ผมจึงอยากให้ตำรวจและ กสทช. พิสูจน์ชัดๆ ว่า ซิมเหล่านี้ทั้งหมดใช้ทำอะไรกันแน่ ถ้าแค่โหวตวีแชทอย่างเดียวก็ดีไป แต่ถ้าส่งสแปมก็เป็นอีกเรื่อง หรือไปถล่มเว็บแบบดีดอทก็อีกเรื่อง การค้าขายอาวุธ, ฟอกเงิน, ยาเสพติด หรือ ก่อการร้ายก็อีกเรื่องหนึ่ง พวกนี้ถ้ามีช่องโหว่แล้ว มันเสมือนหนึ่งเราทำให้ซิมเหล่านี้ เป็นซิมที่ตรวจสอบจับไม่ได้ว่าเป็นของใคร คนใช้อาจจะนำไปทำไม่ดีก็ได้ ทำดีก็ได้"

 

 

ถาม : เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่เคยบอกว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับไอที ต้องการผู้เชี่ยวชาญ หรือคนมีความรู้ด้านเทคนิคมาช่วยกันตรวจสอบ

นายประวิทย์ : "ถ้าตำรวจไม่รู้ว่าจะขอข้อมูลอะไร ก็สามารถปรึกษา กสทช. ได้เกี่ยวกับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลต่อการนำไปขยายผลการสอบสวน เช่น ง่ายที่สุด ตำรวจมีอำนาจขอค่ายมือถือ หรือประสานให้กสทช.สั่งค่ายมือถือ รายงานข้อมูลดูว่าซิมทั้งหมดใช้งานอะไรบ้าง, การโทร, การส่งข้อความ SMS , การใช้งานอินเทอร์เน็ต บันทึกเหล่านี้ ผู้ต้องหาใช้ติดต่ออะไร กับใครวันไหน เวลาไหน หรือใครติดต่อกับใครบ้าง จริงหรือไม่ที่เอาไว้โหวตวีแชท เพราะสุดท้ายถ้าไม่มีใครสนใจสืบสาวต่อ พอสรุปสำนวนอ่อนส่งฟ้องศาล ศาลก็ยกฟ้องเท่านั้นเอง ซึ่งตำรวจมีอำนาจในการเรียกขอข้อมูล เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการนำเข้าข้อมูลตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์"

 

 

ถาม : กรณีพบซิมของกลางกว่า 3 แสนเบอร์ อยู่ที่คนจีน 3 คน วิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตกับปัญหาซิมโทรศัพท์ไทยอย่างไร

นายประวิทย์ : "มองแบบตรงไปตรงมา เรื่องนี้ทำให้คนเราสามารถเปิดซิมมือถือแบบเติมเงินโดยใช้ชื่อของคนอื่นได้ นี่คือบทสรุปของงานนี้ แปลว่าการจะติดตามตรวจสอบหรือจับกุม แทบเป็นไปด้วยความลำบาก ที่สำนักงานกสทช.เคยบอกว่า ถ้าเราทำระบบลงทะเบียนเติมเงินเสร็จ จะสามารถสืบสวนสอบสวนได้ง่ายขึ้นก็ไม่จริง ที่เราลงทุนระบบทั้งหมดไปสิบล้าน หรือร้อยล้านบาทก็ตาม แต่ในแง่ความมั่นคงยังเป็นรอยรั่วรอยโหว่รอยใหญ่อยู่ เราจึงอยากขอความร่วมมือกับค่ายมือถือเรื่องบังคับใช้ปฏิบัติได้จริงเรื่องลงทะเบียน เพราะจริงๆ ผู้ที่ลงทะเบียนในระบบได้คือค่ายมือถือเท่านั้น และการที่ให้ดีลเลอร์ (ตัวแทนจำหน่าย) ลงทะเบียนแทน ( เช่น ผ่านแอพฯ 2 แชะ) ยังถือว่าเป็นตัวแทนของค่ายมือถืออยู่ ค่ายมือถือจะมาบอกว่า ฉันไม่เกี่ยวกับดีลเลอร์ไม่ได้ เพราะยูสเซอร์เนม และพาสเวิร์ด มาจากค่ายมือถือ ดีลเลอร์ทำหน้าที่ลงทะเบียนแทนในนามค่ายมือถือ ซึ่งทางค่ายมือถือต้องรับผิดชอบและต้องทำให้รัดกุม เช่น เบอร์นี้ลงทะเบียนร้านที่กรุงเทพฯ มีใครแอบเอาไปใช้ที่ สระแก้ว, หาดใหญ่, แม่สอดหรือไม่ ถ้ามีแปลว่ามีความรั่วของระบบ แสดงว่ามีการบอกยูสเซอร์เนมพาสเวิร์ดกับคนอื่นที่ทำให้เกิดการลงทะเบียนเถื่อน ต้องมีระบบเข้มงวดขึ้น ตรวจสอบได้ชัดเจนมากขึ้น

อนาคตตต้องตรวจสอบได้ถึงขั้นว่า การลงทะเบียนเป็นปริมาณปกติในแต่ละวันหรือไม่ เช่น แต่ละวันลงทะเบียนประมาณ 50 เบอร์เป็นปกติ แต่ถ้าวันหนึ่งลงทะเบียน 4,000 - 5,000 ซิม มันเกิดอะไรขึ้น อธิบายได้หรือไม่ ต่อไปต้องตรวจสอบฐานข้อมูลการลงทะเบียนของแต่ละค่ายมือถือและติดตามความผิดปกติที่เกิดขึ้น

 

 

ถาม : การซื้อซิมโทรศัพท์ด้วยวิธีใช้ชื่อบุคคล หรือตัวแทนจำหน่ายเปิดเบอร์ให้แทนกัน บ่งบอกพฤติกรรมอะไรได้บ้าง

นายประวิทย์ : "บ่งบอกได้ว่าคนนั้นๆ น่าจะเอาเบอร์ไปทำอะไรบางอย่างที่ไม่ปกติ เพราะคนทั่วไปก็พร้อมจะลงทะเบียนในชื่อของตัวเอง และคนปกติเขาจะไม่ใช้เบอร์เป็นร้อยๆ พันๆ ซิมแน่นอน แต่การใช้ชื่อคนอื่นลงทะเบียนแทน มีความประสงค์จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบบางอย่าง จะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายไม่รู้ อาจเป็นเรื่องอาชญากรรมก็ได้ หรือ ไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าเจ้าตัวใช้เบอร์อะไร อยากเป็นความลับ แต่ที่แน่นอนคือจุดประสงค์ตั้งใจหลีกเลี่ยง"

ถาม : การซื้อซิมทั่วไปนั้น กสทช.เคยรับทราบพฤติกรรมการหลบเลี่ยงของตัวบุคคล เพื่อนำซิมไปใช้มากน้อยแค่ไหน

นายประวิทย์ : "ที่ผ่านมา เราไม่เคยได้รับรายงานเรื่องทำนองนี้ เรารู้แต่ว่ามีการลงทะเบียนในชื่อดีลเลอร์ เพราะตอนนั้น กสทช.เคยกำหนดกติกาว่า ซิมโทรศัพท์ต้องลงทะเบียน เพราะถ้าไม่ลงทะเบียนซิมจะดับ (กลางปี 2558) ดีเลอร์ก็เร่งลงทะเบียนในชื่อตัวเองเพื่อให้ซิมขายต่อได้ และนำไปใช้งานได้ต่อ ซึ่งดีลเลอร์บางคนลงทะเบียนเป็นร้อยซิมพันซิม แต่ที่เราไม่เคยรู้คือ มีการเจาะจงไปขายให้ผู้ใช้บริการแค่คนเดียวหรือกลุ่มเดียว แบบเป็นพันๆ หมื่นๆ ซิม หรือเป็นแสนซิมแบบกรณีนี้ เพราะลักษณะแบบนี้เป็นเรื่องผิดปกติมาก เพราะการที่คนๆ หนึ่ง ซื้อซิมเยอะแล้วไม่ลงทะเบียนเป็นชื่อของตัวเอง ก็ต้องการปกปิดอะไรบางอย่าง

 

 

ถาม : ลักษณะการลงทะเบียนของดีลเลอร์ เป็นพัน เป็นหมื่นซิม ผิดปกติหรือไม่

นายประวิทย์ : "ในเชิงดีเลอร์ไม่ผิดปกติ เพระปกติเวลาขายส่งก็พบขายกันมัดละ 100 ซิม หาก 4 มัดก็ 400ซิม จากนั้นดีลเลอร์อาจลงทะเบียนเป็นชื่อตัวเอง แต่ปัจจุบันนี้ จริงๆ มันไม่ควรลงทะเบียนในชื่อดีลเลอร์ เพราะ กสทช.เองก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการย้ายเครือข่าย, การยกเลิกซิม, ขอเงินคืน ก็ต้องลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนชื่อผู้ใช้งานเราเป็นเจ้าของเบอร์ แต่วันดีคืนดีถ้ายังเป็นชื่อดีลเลอร์อยู่ เกิดถูกชะตากับเบอร์นั้น ก็ขโมยเบอร์นั้นได้แบบถูกกฎหมาย ลูกค้าที่ซื้อซิมต่อดีลเลอร์ไปก็ซวย และยิ่งถ้ามีเงินเหลืออยู่ในระบบเงินในเบอร์นั้นก็กลายเป็นเงินของดีลเลอร์ การลงทะเบียนที่ผิดตัวบุคคคน ส่งผลให้คนที่ใช้งานเบอร์นั้นมีความเสี่ยง และในทางกลับกันถ้าเราเป็นเจ้าของเบอร์ เจ้าของเงิน แล้วถ้ามีดีลเลอร์เอาไปประกอบอาชญากรรม หรือวางระเบิด เราก็มีความเสี่ยงเช่นกัน มันเป็นความเสี่ยงทั้งสองทาง ฉะนั้น ทางที่ดีคือผู้ใช้งานจะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียน เพื่อได้รับการค้มุครองสิทธิ

 

 

ถาม : ที่ผ่านมาการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตน ได้รับความร่วมมือจากค่ายมือถือ และ ประชาชนมากน้อยแค่ไหน เกิดปัญหาอะไรบ้าง

นายประวิทย์ : "หลายปีก่อนคนไทยเกินครึ่งไม่ลงทะเบียน แต่หลังจากกสทช.บังคับให้ลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน ก็พบมาลงทะเบียนกันมากขึ้น 70-80% จนสุดท้ายกสทช.ขีดเส้นตายว่า ถ้าไม่ลงทะเบียนเกินวันที่เท่าไร จะเกิดปัญหาซิมดับ (กลางปี 2558) ก็ทำลงทะเบียนได้เกือบครบทั้งระบบ แต่ปัญหาคือพบว่าเบอร์ถูกลงทะเบียนในชื่อดีลเลอร์อยู่ 20-30% ของเบอร์ทั้งระบบ (120 ล้านเบอร์) เป็นจุดที่ กสทช.พยายามแก้กัน ขอความร่วมมือค่ายมือถือใช้ชื่อดีเลอร์ลงทะเบียนให้น้อยที่สุด แบบลดลงเรื่อยๆ แต่ยังไม่ใช่ลดลงจนหายทั้งหมด"

 

 

ถาม : ในมุมของค่ายมือถือ จะต้องปรับอย่างไร

นายประวิทย์ : "ค่ายมือถือควรมีตัวแทนจำหน่ายเป็นหลักแหล่ง ไม่ใช่ปล่อยระบบขายส่งเป็นทอดๆ ใครก็ได้ พูดแบบภาษาไทย คือ ไม่ใช่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า หรือขายกันตามตลาดมืด เขาต้องมีบัญชีฐานข้อมูลว่า ซิมล็อตนี้ขายที่ดีลเลอร์รายไหน และดีลเลอร์รายนั้นจะต้องมีฐานข้อมูลส่งต่อได้ว่าขายต่อไปที่ใคร เหมือนขายล็อตเตอรี่จะต้องรู้ว่าล็อตเตอรี่ใบนี้ขายที่จังหวัดไหน พื้นที่ไหน ซิมโทรศัพท์ก็ต้องเหมือน ซึ่งค่ายมือถือต้องมีระบบฐานข้อมูลให้ตรวจสอบได้ และตรวจสอบการลงทะเบียนในแต่ละวันว่าผิดปกติหรือไม่ ตรวจสอบชื่อการใช้งานว่า พบการใช้งานเกินหนึ่งคนหรือไม่"

 

 

ถาม : การเอาซิมไปขายตามตลาดสด ร้านขายของเก่า ทำได้หรือไม่

นายประวิทย์ : "ทำได้ ในแง่ดีคือการเข้าถึงบริการ เพราะประชาชนหลายคนไม่สะดวกที่จะไปร้านตามช็อป หรือห้างสรรพสินค้า จึงอาศัยร้านเหล่านี้ ซึ่งสามารถขายได้ไม่มีความผิด แต่เงื่อนไขคือ ทุกครั้งที่เปลี่ยนมือให้ลงทะเบียนใหม่ การเปลี่ยนมือแล้วไม่ลงทะเบียนใหม่ เป็นช่องโหว่ทำให้ระบบที่วางไว้เกิดประสิทธิผลไม่เต็มที่ ส่วนการขายซิมโทรศัพท์ข้ามประเทศนั้นเป็นเรื่องปกติ ที่ซิมไทยมีขายในต่างประเทศ แต่การลงทะเบียนซิมเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ"

 

 

ถาม : ประชาชนจะรู้ จะระวังตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้คนอื่นขโมยเบอร์เราไปใช้งานไม่รู้ตัว

นายประวิทย์ : "กรณีนี้ตรงไปตรงมาเวลาซื้อซิม ทุกคนรู้ว่า จะซื้อซิมที่ยังไม่หักออกจากแผ่นอยู่ในซอง เมื่อเปิดซองจะพบเลขเบอร์มือถือ มีเลขซิมชัดเจน แต่กรณีการจับกุมชาวจีนพร้อมของกลางจำนวนมากลักษณะนี้ บอกให้เรารู้ว่า ซิมโทรศัพท์แบบนี้ก็ไว้ใจไม่ได้ เพราะพบว่าคนจีนเอาซิมไปผ่านเครื่องอ่านเบอร์ (แอคซิม) ลงทะเบียนได้โดยไม่ต้องหักซิมออกจากแผ่น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเจ้าของเบอร์ คือเมื่อซื้อซิมใหม่เสร็จ ให้ลงทะเบียนใหม่ด้วยชื่อเราทุกครั้ง ไม่ใช่ซื้อซิมมาแล้ว เย้..ดีใจ ไม่ต้องลงทะเบียนแต่เบอร์เราใช้งานได้เลย อย่างนั้นแปลว่ามีคนลงทะเบียนแทนเราไปแล้ว เติมเงินเข้าไปเขาเอาเงินเราไปได้ เบอร์สวยเขาก็ยึดเบอร์เราไปได้ โดยหลักแล้วต่อให้ซื้อซิมใหม่มาโดยไม่หักออกจากแผ่นก็จริง แต่ขอให้ลงทะเบียนใหม่ทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าเราเป็นเจ้าของเบอร์"

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง