ชี้แยกเงินเดือนบุคลากรสธ.จาก "งบรายหัว" กระทบโรงพยาบาลชุมชน

สังคม
5 ก.ค. 60
16:13
719
Logo Thai PBS
ชี้แยกเงินเดือนบุคลากรสธ.จาก "งบรายหัว" กระทบโรงพยาบาลชุมชน
ชำแหละแยกเงินเดือนบุคลากร ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง จะส่งผลกระทบของโรงพยาบาลชุมชน หรือรพช. เนื่องจากเปิดช่องโรงพยาบาลใหญ่ดูดคนเก่งออกไปได้ไม่อั้น ทรัพยากรบุคคลกระจุกตัวแต่ในเขตเมือง

วันนี้(5ก.ค.2560) น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพตัวแทนประชาชน บอกว่า ขณะนี้มีการให้ข้อมูลไม่ถูกต้องเพื่อจงใจให้เกิดการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวสิทธิบัตรทอง เป็นการให้ข้อมูลแค่บางส่วนเพื่อหวังให้คนหลงเชื่อ เมื่อดูข้อมูลจากชม รมแพทย์ชนบทที่ทำการวิเคราะห์งบรักษาพยาบาลจากทุกสิทธิ จะพบว่า ข้อเสนอให้แยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวจะส่งผลกระทบถึงประชาชนในชนบท ทั้งนี้สิ่งที่ทุกคนควรทราบคือ เงินรายได้และรายจ่ายของโรงพยาบาลรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับจาก 3 กองทุนสุขภาพหลัก คือ กองทุนบัตรทอง  กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม 

น.ส.กรรณิการ์ บอกว่า  ข้อมูลจากชมรมแพทย์ชนบทที่ได้เปรียบเทียบ 4 จังหวัดระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จ.สิงห์บุรี  สมุทรสงคราม บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี จะพบว่า เฉพาะรายได้บัตรทองต่อหัว จ.สิงห์บุรีได้มากกว่าจังหวัดอื่น ดังนี้สิงห์บุรี 3,583 บาทต่อคน  สมุทรสงคราม 2,904 บาทต่อคนบุรีรัมย์ 2,089 บาทต่อคน และอุบลราชธานี 2,418 บาทต่อคน

และหากรวมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ จะพบว่ารายได้ที่สิงห์บุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกยกมาใช้เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องแยกเงินเดือน จะเห็นได้ว่ารายได้ยิ่งห่างจากจังหวัดอื่นมากขึ้นไปอีก ดังนี้ สิงห์บุรี 5,527 บาทต่อคน สมุทรสงคราม 4,830 บาทต่อคน บุรีรัมย์ 3,391 บาทต่อคน และอุบลราชธานี 4,525 บาทต่อคน

และเมื่อดูภาระงานในการดูแลประชาชนทุกสิทธิของ 3 จังหวัดคือ สิงห์บุรี บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี จะพบว่า บุรีรัมย์ และอุบลราชธานีมีภาระงานในการดูและประชาชนมากกว่าสิงห์บุรี 6.7-8 เท่า เพราะสิงห์บุรีมีจำนวนบุคลากรมากกว่า สิงห์บุรีมีจำนวนบุคลากรมากกว่าบุรีรัมย์และอุบลราชธานี 2.2-3.2 เท่า

“ จากตัวเลขนี้ การแยกเงินเดือนจะกระทบประชาชนในชนบทแน่นอน จะเห็นว่าข้อเสนอแยกเงินเดือนล้วนมาจาก รพ.ขนาดใหญ่ ขณะที่ รพ.ขนาดเล็กไม่อยากให้แยก เพราะจะทำไม่มีบุคลากรในการให้บริการประชาชน” น.ส.กรรณิการ์  ระบุ

 

รพช.กังวลผลกระทบบุคคลากรหนีเข้าประจำในเมือง 

ด้านแหล่งข่าวระดับบริหารจากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ ระบุถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวว่า เป็นประเด็นที่กลุ่ม รพช. รู้อยู่เต็มอกว่าจะทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ แต่ไม่มี ใครกล้าปริปากพูดเพราะเกรงว่าจะถูกเพ่งเล็งหรือโดนสอบสวน เนื่องจากทั้งสาธารณ สุขจังหวัดและกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป ส่วนใหญ่มีจุดยืนอยู่ข้างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งต้องการผลักดันเรื่องนี้

ในภาพรวมแล้ว ระบบการผูกเงินเดือนบุคลากรรวมกับงบเหมาจ่ายรายหัว เป็นการควบคุมกำกับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้โรงพยาบาลที่มีบุคลากร ที่เป็นข้าราชการเยอะก็ต้องจ่ายเงินเดือนเยอะ ส่วนโรงพยาบาลที่มีจำนวนข้าราชการน้อยเอาเงินรายหัวที่ได้มาไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวเพิ่ม เพื่อให้เหมาะกับภาระงาน แต่การยกเหตุผลในการแก้กฎหมายในประเด็นนี้กลับถูกกล่าวอ้างในระดับผิวเผินแค่ว่าเมื่อหักเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวแล้วแต่ละพื้นที่เหลือเงินสำหรับการบริการไม่เท่ากัน ซึ่งการพูดถึงประเด็นนี้อย่างเดียวถือว่าไม่แฟร์ เพราะ สธ.ก็ล้มเหลวในการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง ปล่อยให้คนมากองอยู่ในพื้นที่เขตเมืองเต็มไปหมด

แหล่งข่าว กล่าวว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวเกิดขึ้นจะเกิดผลกระทบกับ รพช. เพราะในการโยกย้ายปกติแต่ละปีบุคลากรจาก รพช. ก็พร้อมจะย้ายเข้าไปอยู่ในเขตเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่ปัจจุบันยังสามารถเบรกได้เนื่องจาก รพศ. รพท.ไม่รับเพราะติดข้อจำกัดที่ต้องจ่ายเงินเดือนเอง แต่หากแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว โรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็สามารถรับคนได้ไม่อั้น รพช.ก็จะโดนดูดคนไปเรื่อยๆ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง