"แยกสอบสวน-กระจายอำนาจ" ข้อเสนอปฏิรูปตำรวจ

สังคม
6 ก.ค. 60
10:20
881
Logo Thai PBS
"แยกสอบสวน-กระจายอำนาจ" ข้อเสนอปฏิรูปตำรวจ
ทิศทางปฏิรูปตำรวจที่น่าจะเป็นรูปธรรมที่สุด หากมองในมุมของกรรมการที่ตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แต่หากย้อนดูการศึกษาเรื่องการปฏิรูปตำรวจทั้งของเครือข่ายภาคประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีบางส่วนที่คล้ายกันนั่น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจเคยออกแถลงการณ์เรียกร้อง 4 ข้อเสนอปฏิรูปตำรวจไปยังนายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย 1.การโอนหน่วยตำรวจที่มีกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย 9 หน่วย ไปรับผิดชอบ 2.การให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีอาญาสำคัญ หรือ คดีที่มีโทษจำคุกเกิน 10 ปี หรือเมื่อมีประชาชนร้องเรียนตั้งแต่เริ่มคดี หลังมีเสียงร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นการสอบสวน 3.การออกหมายเรียกบุคคลมาแจ้งข้อหา หรือ เสนอศาลออกหมายจับ ให้เสนอพนักงานอัยการให้ความเห็นชอบก่อน และ 4.การปรับระบบงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนออกจากโครงสร้างองค์กรแบบมีชั้นยศแบบทหารและกำหนดหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลยพินิจทางคดีของพนักงานสอบสวนให้เป็นไปตามพยานหลักฐาน ในลักษณะเดียวกับพนักงานอัยการ

ส่วนแนวคิดหรือแนวทางที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมถึง สนช.และ สปท.เคยเสนอ ก็มีข้อเสนอให้มีการถ่ายโอนภารกิจเฉพาะไปให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง รวมถึงการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งนายศังสิต พิริยะรังสรรค์ ทั้งในอดีตสมาชิก สปช.และนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการปฏิรูปตำรวจเห็นว่า คณะกรรมการทั้ง 36 คนต้องนำมาประกอบการพิจารณา

รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการปฏิรูปตำรวจมานาน ระบุว่า การกระจายอำนาจคือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ และหากสามารถแยกงานสอบสวนให้อิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ จะทำให้เกิดการถ่วงดุลจากเดิมที่กระบวนการทำสำนวนทั้งหมดอยู่ในมือของตำรวจ ตั้งแต่การสืบสวน สอบสวน และการใช้ดุลยพินิจในการส่งสำนวนถึงอัยการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง