ย้ำค่าธรรมเนียมขออนุญาต "แรงงานข้ามชาติ"คงเดิม 1 พันบาท

สังคม
7 ก.ค. 60
11:52
1,082
Logo Thai PBS
ย้ำค่าธรรมเนียมขออนุญาต "แรงงานข้ามชาติ"คงเดิม  1 พันบาท
"กรมการจัดหางาน" ยืนยันตัวเลขแรงงานเดินทางกลับประเทศเพียง 60,000 คน โดยยืนยันค่าธรรมเนียมขออนุญาตทำงานแรงงานตามพ.ร.ก.ยังคงอัตราเดิม 1,000 บาทไม่ถึง 20,000 บาท พร้อมดีเดย์เปิดบริการแรงงานข้ามชาติ พร้อมกันทั่วประเทศ 12 ก.ค.นี้

วันนี้ (7 ก.ค.2560) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังจากพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบังคับใช้ ขณะนี้ภาครัฐได้แก้ปัญหา โดยเฉพาะหลักเกณฑ์แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลัก ๆ มี 3 ข้อด้วยกัน คือ1.หลักเกณฑ์การเปลี่ยนนายจ้างให้ตรงกับการจ้างงาน

2.ปลดล็อกให้แรงงาน 3 สัญชาติคือลาว เมียนมา และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ดำเนินการขอวีซ่า และ ใบอนุญาตทำงานไม่ทันใน 15 วัน มาดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งมีอยู่หลายหมื่นคน และ 3. ตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวเฉพาะกิจ 15 วัน

สำหรับศูนย์รับแจ้งเฉพาะกิจดังกล่าว กรมการจัดหางานมีแผนที่จะเปิดขึ้นทั่วประเทศ แต่จะไม่ใช้สำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยจะระดมเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานส่วนต่างๆ ในระดับจังหวัดเข้ามาช่วยดำเนินการ พร้อมประสานขอกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือด้วย

หากเป็นจังหวัดเล็กจะมีการตั้งโต๊ะให้บริการ 30 โต๊ะ ส่วนจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนมากจะตั้ง 300 โต๊ะ หากไม่พอให้ตั้งโต๊ะเพิ่มเติมได้ ส่วนที่กรุงเทพมหานคร จะเปิด 10 จุด จัดตั้งโต๊ะให้บริการจุดละ 300 โต๊ะ โดยวันที่ 12 ก.ค.นี้ จะมีการกำหนดพื้นที่ให้บริการดังกล่าว

 

 



ยืนยันค่าธรรมเนียมขออนุญาตแค่ 1,000 บาท


นายวรานนท์ กล่าวถึงจำนวนแรงงานที่เดินทางกลับประเทศว่า ขณะนี้มีประมาณ 60,000 คน และยังมีเตรียมเดินทางไปลาว เพื่อเจรจาขอให้เร่งทำการพิสูจน์สัญชาติ แม้แรงงานลาวจะมีไม่มากก็ตาม

อธิบดีกรมการจัดหางานยืนยันด้วยว่า อัตราค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตทำงานไม่ได้สูงถึง 20,000 บาท ตามที่มีกระแสข่าว โดยตัวเลข 20,000 บาท เป็นเพียงตัวเลขท้ายพ.ร.ก. ซึ่งเป็นมาตรฐานของการออกกฎหมาย ที่จะออกเพดานสูงสุดเอาไว้ ยืนยันว่า อัตราค่าธรรมเนียมในการขออนุญาตทำงานยังคงอยู่ที่อัตราเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือไม่เกิน 900 บาท บวกค่าคำขอ 100 บาท รวมเป็น 1,000 บาท และไม่มีการเก็บส่วนต่างอื่นๆอีก

สำหรับการตั้งคณะทำงานแก้ไขพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ขณะนี้กำลังจะเสนอชื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณา โดยจะมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงแรงงานเป็นประธาน

ส่วนจะเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานหรือไม่นั้นต้องพิจารณากันอีกครั้ง แต่ความเห็นทั้งหมดจะถูกเสนอขึ้นไปให้รัฐบาลพิจารณาว่าควรจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็นที่อาจจะมีการแก้ไขน่าจะมีอยู่เรื่องเดียว คือ โทษปรับที่สูง ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลกันมาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง