"เกาะไข่โมเดล" ต้นแบบลดปริมาณขยะ ดึงชุมชนร่วมดูแลการท่องเที่ยว

สิ่งแวดล้อม
8 ก.ค. 60
10:00
1,398
Logo Thai PBS
"เกาะไข่โมเดล" ต้นแบบลดปริมาณขยะ ดึงชุมชนร่วมดูแลการท่องเที่ยว
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดตัว "เกาะไข่โมเดล" ลดปริมาณขยะทะเล ดึงชุมชนบริหารจัดการรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หลังเจอปะการังเสื่อม นักท่องเที่ยวล้น ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรม

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความเสียหายของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบนเกาะ “ไข่ใน ไข่นุ้ย ไข่นอก” ในพื้นที่ จ.พังงา ว่า มีสาเหตุมาจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและดำน้ำ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเกือบหมื่นคน เนื่องจากอยู่ใกล้ จ.ภูเก็ต ส่งผลเกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ เช่น การทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง การให้อาหารปลา เหยียบย่ำปะการัง เก็บเศษซากปะการัง และการทิ้งขยะลงทะเล

จนนำมาสู่การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือร่วมจัดทำมาตรการเพื่อลดปริมาณ ขยะทะเลในพื้นที่เกาะไข่ใน เกาะไข่นอก และเกาะไข่นุ้ย โดยในช่วงที่ผ่านมาชาวบ้าน ผู้ประกอบการในพื้นที่ และท้องถิ่น ต่างร่วมกันปฏิบัติตามข้อตกลงมาโดยตลอด จนสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดและสามารถยกให้เป็น “เกาะไข่โมเดล”

พล.อ.สุรศักดิ์ บอกถึงมาตรการ เพื่อลดปริมาณขยะทะเลในพื้นที่ว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน โดยเตรียมตั้งคณะอนุกรรมการในการดูแลบริหารเกาะไข่นอก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่บนเกาะไข่จะเป็นคนในท้องถิ่นการจัดการดูแล ในเรื่องงความสะอาด ความปลอดภัย เพื่อที่จะให้มีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ขณะที่ นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บอกถึงโครงการเกาะไข่โมเดล ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชาวบ้าน และท้องถิ่น เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดการขยะทะเล ตั้งเป้าให้เกาะไข่เป็นโมเดลที่เกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านและกรมทรัพยากรทางทะเล เช่นเดียวกับเกาะพีพีโมเดล

นายธรณ์  ชี้ว่า ขยะของเกาะไข่ส่วนใหญ่จะเป็นขยะบนบก และมีปริมาณไม่มากเท่ากับ เกาะพีพี ทำให้สามารถจัดเก็บและกำจัดได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ได้ตั้งอนุกรรมการเกาะไข่ เพื่อให้ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และท้องถิ่น ร่วมกำหนดมาตรการดูแลทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะไข่ ทำให้ปัญหาต่างๆ เริ่มดีขึ้น

ด้าน นางสุดา ไหวพริบ อายุ 46 ปี อาชีพค้าขาย บอกว่า  ทำธุรกิจค้าขายบนเกาะไข่นาน 10 ปี เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายมาตราที่ 17 และยอมรับที่จะปฎิบัติตาม เพราะเห็นว่าเมื่อสถานที่ท่องเที่ยวมีความสมบูรณ์ และสวยงามมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวก็เดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวเกาะไข่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวจีน เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ โดยกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะชื่นชอบคือการดำน้ำดูประการัง ที่ผ่านมาแต่ละวัน มีนักท่องเที่ยวเดินมาเป็นจำนวนมาก สิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างก็เพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่วันละไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 บาท แต่ผลที่ตามมาคือความเสื่อมโทรมและขยะ

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจึงร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นช่วยกันเก็บขยะของตนเอง เพื่อให้เทศบาลเกาะยาวนำไปกำจัดบนฝั่ง โดยใช้เรือหางยาวขนขยะวันละ 3 ลำ โดยการจ่ายเงินเดือนละ 500 บาท ที่ผ่านมาการจัดการขยะบนเกาะก็เริ่มเป็นระบบมากขึ้น ไม่มีขยะตกค้างบนเกาะจะมีการส่งไปกำจัดวันต่อวัน

นอกจากนี้ การติดตั้งป้ายแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวโดยมีข้อห้ามต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวร่วมกันกับผู้ประกอบการ ปัจจุบันเกาะไข่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ชายหาดขาวสะอาดมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง