"แรงงานเมียนมา"ทะลักกลับบ้านแล้ว 3 หมื่นคาดทะลุล้านคน

สังคม
9 ก.ค. 60
14:44
780
Logo Thai PBS
"แรงงานเมียนมา"ทะลักกลับบ้านแล้ว 3 หมื่นคาดทะลุล้านคน
สรุปตัวเลขเบื้องต้นคาด แรงงานสัญชาติเมียนมาเดินทางกลับประเทศกว่า 30,000 คน ภาคประชาสังคมประเมินอาจมีอีกนับล้านคน ด้านกระทรวงแรงงาน เตรียมเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่ทำงานไม่ตรงตามเอกสาร ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค.นี้

วันนี้ (9ก.ค.2560)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานสัญชาติเมียนมา จากพื้นที่กรุงเทพมหานคร และหลายจังหวัด ยังเดินทางไปที่ด่านพรมแดนไทย - เมียนมา ด้านอ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อกลับภูมิลำเนา หลังการบังคับใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยมีแรงงานเดินทางกลับแล้วกว่า 30,000 คน และยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้

ประธานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ในอำเภอแม่สอด กล่าวว่า ยังมีแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ที่เข้าไปทำงานตามพื้นที่ชั้นในโดยผิดกฏหมายอีกเกือบ 1 ล้านคน เชื่อว่าคงหมดจะเดินทางกลับ ในช่วง 1 - 2 เดือนนี้


พ.ต.อ.แมน รัตนประทีป ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก บอกว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ยังคงร่วมกับจังหวัดเมียวดี อำนวยความสะดวกให้กับแรงงานสัญชาติเมียนมาเดินทางกลับ ซึ่งทางการเมียนมามีพื้นที่รองรับไว้แล้ว ขณะเดียวกันได้รับคำสั่งจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา หลังจากก่อนหน้านี้ มีตำรวจ 3 นาย ถูกร้องเรียนเรียกรับเงินจากแรงงานเมียนมา จนถูกตั้งคณะกรรมสอบสอน

 


"ทีดีอาร์ไอ"หนุนจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ


ด้าน รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประ เทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ หยิบยกงานวิจัยสะท้อนภาพแรงงานต่างด้าวในไทยพบว่า ทุกครั้งที่รัฐปรับปรุงกฎ หรือ ออกมาตรการเพื่อบริหารจัดการคนกลุ่มนี้ เช่น เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานแบบเบ็ดเสร็จ จำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศ จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังจากนั้น มักปรับขึ้นสูงแบบก้าวกระโดดทันที และคาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวในประเทศ แบบถูกกฎหมาย มากกว่า 4 ล้านคน ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นักวิจัย จึงสนับสนุนให้รัฐบาล บังคับใช้พระราชกำหนดบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560 อย่างจริงจัง หลังพบว่า แรงงานต่างด้าวที่อาศัยทำงานในไทยเป็นเวลานาน จนกลายเป็นแรงงานกึ่งมีทักษะ เริ่มแย่งงานคนไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่

อีกทั้งยังเห็นว่าการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมากๆ ทำให้ผู้ประกอบการ ไม่รู้จักการปรับตัว ยิ่งหากรัฐยอมอ่อนข้อผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย เปิดลงทะเบียนใหม่อีก อาจทำให้ไทยเผชิญปัญหาไม่สามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง แม้มียุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 

 


เปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน 24 ก.ค.-7 ส.ค.นี้


ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ประเทศไทยจำ เป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว และชี้แจงว่า ต้นทุนการจ้างแรงงานต่างด้าวไม่ใช่แรงงานราคาถูกเหมือนอดีต แต่ที่ต้องพึ่งคนกลุ่มนี้ เพราะ แรงงานไทยปฏิเสธการทำงานบางประเภท ก่อนเสนอรัฐปรับปรุงระเบียบให้สามารถนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่น นอกจาก 3 สัญชาติ เมียนมาร์ลาว กัมพูชา ตามความร่วมมือเดิม รวมทั้ง อำนวยความสะดวก ลดค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันเอกชน

ล่าสุด กระทรวงแรงงาน ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว โดยกำหนดให้มีการเปิดศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่มีนายจ้างอยู่แล้ว แต่ไม่มีเอกสารอะไรเลย และแรงงานที่มีเอกสารทำงานไม่ตรงตามเอกสาร จังหวัดละ 1 แห่งกรุงเทพ 10 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. -7 ส.ค.นี้ เพื่อทำแรงงานผิดกฎหมาย หรือ ผิดระเบียบให้ถูกต้องอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง