"ริชชี่" ปลากะโห้ อั้ม พัชราภา กระดูกเคลื่อน-ถุงลมอักเสบเรื้อรัง

สังคม
13 ก.ค. 60
16:03
38,825
Logo Thai PBS
"ริชชี่" ปลากะโห้ อั้ม พัชราภา กระดูกเคลื่อน-ถุงลมอักเสบเรื้อรัง
รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ปลากะโห้ของอั้ม พัชราภา กระดูกสันหลังเคลื่อน มีอาการติดเชื้อเล็กน้อย ครีบหางเปื่อย และถุงลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้กับปลาตัวใหญ่ทุกสายพันธ์ุ ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุภายในบ่อ

วันนี้ (13 ก.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ โพสต์ข้อความในอินสตาแกรม aum_patchrapa เพื่อสอบถามถึงสถานที่ที่รับดูแลปลาป่วย โดยระบุว่า “มีปลาที่บ้านเขาไม่สบายนอนตะแคง ใครพอทราบไหมคะว่าจะต้องพาไปหาหมอที่ไหน ใครพอทราบบอกด้วยนะคะ” เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา

 

 

 

สพ.ญ.ฐนิดา เหตระกูล รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ได้รับดูแล "ริชชี่" ปลาของอั้ม พัชราภา เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ซึ่งเป็นปลากะโห้ น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม โดยมีอาการนอนตะแคงกับพื้น และว่ายน้ำไม่ได้

จากการตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์พบว่า กระดูกสันหลังเคลื่อนเล็กน้อย มีอาการติดเชื้อเล็กน้อย ครีบหางเปื่อย และถุงลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ปลากะโห้ทรงตัวว่ายน้ำไม่ได้ ขณะที่สาเหตุของกระดูกสันหลังเคลื่อน สพ.ญ.ฐนิดา คาดว่า น่าจะเกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายในบ่อเลี้ยง เช่น ว่ายชน หรือ ม้วนตัวเร็วผิดจังหวะ ซึ่งต้องรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด นวดกระตุ้น

สำหรับอาการถุงลมอักเสบเรื้อรัง พบถุงลมหนาตัวขึ้นและมีขนาดเล็กลงจากปกติ ทำให้การแลกเปลี่ยนลมภายในผิดปกติ จึงไม่สามารถทรงตัวในน้ำได้เหมือนเดิม โดยสาเหตุอาจมาจากอุบัติเหตุและติดเชื้อ การรักษาทำได้เพียงรักษาการติดเชื้อ ซึ่งไม่สามารถทำให้ถุงลมกลับมาทำงานปกติได้

 

 

สพ.ญ.ฐนิดา กล่าวว่า การรักษาขณะนี้ได้ให้ยาฆ่าเชื้อ วิตามิน และจับตั้งตัวปลา เมื่ออาการดีขึ้นจะทำกายภาพบำบัด ซึ่งจะประเมินอาการทุก 3-5 วัน คาดว่าปลากะโห้ของอั้ม พัชราภา ต้องรักษาตัวอยู่ที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ ประมาณ 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสภาพน้ำ และบ่อเลี้ยงปลาภายในบ้านของอั้ม พัชราภาเพิ่มเติม เพื่อนำผลมาร่วมวิเคราะห์สาเหตุ ซึ่งการตรวจสอบไม่พบความผิดปกติของน้ำและบ่อเลี้ยงปลา

“กระดูกสันหลังเคลื่อน” พบได้ในปลาทุกสายพันธ์ุ

สพ.ญ.ฐนิดา ให้ข้อมูลว่า กระดูกสันหลังเคลื่อน มักจะเกิดกับปลาตัวใหญ่ เช่น ปลาหมอสี ปลาอโรวานา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การชน สะบัดตัวแรง ม้วนตัวเร็ว กระโดด และขาดวิตามินซีตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งหากพบปลาที่เลี้ยงประสบอุบัติเหตุแนะนำให้รีบนำมาพบแพทย์ เพราะกระดูกจะยังไม่สร้างผังผืด โอกาสรักษาให้กลับมาทรงตัวว่ายน้ำให้เหมือนเดิมมีโอกาสค่อนข้างสูง 

วิธีสังเกตปลา “ถุงลมอักเสบ”

เนื่องจากถุงลมปลาเป็นตัวควบคุมการทรงตัวในน้ำ เมื่อมีอาการอักเสบก็จะทำให้ว่ายน้ำไม่ได้ สพ.ญ.ฐนิดา แนะนำวิธีสังเกตปลามีถุงลมอักเสบคือ ทรงตัวผิดปกติ ว่ายลอยผิวน้ำ ลอยหงายท้อง ทรงตัวไม่ได้ และจมอยู่ใต้น้ำ ต้องรีบนำมารักษาทันที แต่หากอาการไม่ชัดเจนสามารถโทรปรึกษาศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ เพื่อวิเคราะห์อาการเบื้องต้นได้

อย่างไรก็ตาม สพ.ญ.ฐนิดา กล่าวว่า เมื่อพบปลาป่วยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแลรักษา เพราะปลาก็มีชีวิต บางคนอาจคิดว่าไม่คุ้มค่ากับการขนย้าย ซื้อใหม่อาจง่ายกว่า แต่ปลากว่าจะตายใช้เวลานาน ไม่ตายทันที ซึ่งพบว่าทรมานอยู่พอสมควร การรักษาจะสามารถบรรเทาความเจ็บปวดและยื้อชีวิตได้ และหากปลาป่วยไม่ควรซื้อยารักษาเอง นอกจากจะไม่หายแล้ว หลายครั้งพบว่าปลามีอาการแย่กว่าเดิม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง