ข้อสรุป แก้ ก.ม.บัตรทอง ไม่ร่วมจ่าย-ไม่แยกเงินเดือน

สังคม
13 ก.ค. 60
19:39
3,861
Logo Thai PBS
ข้อสรุป แก้ ก.ม.บัตรทอง ไม่ร่วมจ่าย-ไม่แยกเงินเดือน
ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ข้อสรุปไม่ให้ประชาชนร่วมจ่าย ณ จุดบริการและไม่แยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว แต่ให้โอนอำนาจการจัดซื้อยากลับไปให้กระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2561

วันนี้ (13 ก.ค.2560) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา กรรมการพิจารณายกร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหารือใน 14 ประเด็น จากการรวบรวมรับฟังความคิดเห็นจากเวที 4 ภาค โดยยืนยันว่าได้ดำเนินการอย่างรอบด้านและประชาชนไม่เสียประโยชน์ พร้อมกันนี้ไม่มีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แต่ระยะยาวจะต้องศึกษาความยั่งยืนของระบบการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะนำผลการศึกษาของ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพิจารณาร่วมด้วย ส่วนการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ยังให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้คำนวณต้นทุนและค่าแรงการให้บริการเช่นเดิม เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ แต่การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์จะให้ สปสช.ดำเนินการปีงบประมาณ 2560 ส่วนปี 2561 จะตั้งเป็นอนุกรรมการต่อรองราคายากลางแห่งชาติทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ สปสช.

นอกจากนี้ ยังเห็นควรเพิ่มสัดส่วนกรรมการ สปสช.แบ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการ ซึ่งทั้ง 2 บอร์ด จะเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการบอร์ดละ 2 คน รวมทั้งเพิ่มมาตรการเยียวยาของผู้ให้บริการ เช่นเดียวกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนี้จะทำหนังสือเวียนข้อสรุปดังกล่าวเพื่อรับรองมติ ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสัปดาห์หน้า

ขณะที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามผลการประชุม ทันทีที่ทราบข้อสรุป ได้เดินทางกลับ โดยไม่ได้แสดงความคิดเห็น และเตรียมขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารืออีกครั้ง

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา ร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 15 คน เพื่อพิจารณาร่างแบบเร่งด่วน นอกจาก 14 ประเด็น เพื่อให้เกิดความรอบด้าน ภายใน 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากแพทยสภาพิจารณาแล้วเสร็จจะเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง