ชูปรับ Mindset ผลิตแพทย์มี “หัวใจความเป็นมนุษย์” แก้ปัญหาสุขภาพคนไทย

สังคม
21 ก.ค. 60
20:31
1,049
Logo Thai PBS
ชูปรับ Mindset ผลิตแพทย์มี “หัวใจความเป็นมนุษย์” แก้ปัญหาสุขภาพคนไทย
มทส. ร่วมกับ ศสช. ทันตแพทยสภา และเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์ จัดงานสัมมนา “เติมใจให้กัน..สานฝันเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์” หวังผลิตแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ แก้ปัญหาสุขภาพคนไทย

วันนี้ (21 ก.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการจัดตั้งสำนักแพทยศาสตร์ มทส. เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณแพทย์ในเขตชนบทไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงอัตราบัณฑิตแพทย์กลับไปทำงานยังถิ่นบ้านเกิดลดจำนวนลง และทำงานในพื้นที่ทุรกันดารไม่ได้นาน จนกลายเป็นปัญหาขาดแคลนแพทย์ระดับประเทศ จึงเริ่มนำกระบวนการเรียนรู้แบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ในส่วนของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน (Mindset) และการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ (IPE) มาประยุกต์ใช้ในการเตรียมบุคลากรและปฏิรูปการสอนแก่บัณฑิตแพทย์ กระบวนการดังกล่าวทางสำนักวิชาแพทย์ฯ เริ่มใช้กับนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 6 เน้นให้ว่าที่บัณฑิตแพทย์เกิดการพัฒนาตนเองผ่านวิชาจิตปัญญาศึกษา วิชาชนบทศึกษา และฝึกงานกับเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์ใน จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ที่ให้นักศึกษาเรียนรู้จากสถานที่จริงควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านวิชาการ พบว่าเกินกว่าร้อยละ 90 จบการศึกษาแล้วกลับไปทำงานยังท้องถิ่น พร้อมใช้ทุนรัฐบาลจนครบเวลาโดยไม่หนี นอกจากนี้ ชาวบ้านและสหวิชาชีพในสาขาอื่นๆ ที่ร่วมงานด้วยกัน ยังสะท้อนว่าบัณฑิตแพทย์ มทส.สามารถเข้ากันได้ดีกับชุมชนและเพื่อนร่วมงาน

"สิ่งสำคัญในการสร้างแพทย์ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ คือการเปลี่ยน Mindset จากข้างในของตัวนักศึกษา ว่าจะทำอย่างไรให้เขาจบออกไปแล้วสามารถทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชนบทหรือแม้แต่ในเขตเมืองได้อย่างมีความสุข คิดถึงคนไข้มากกว่าตัวเอง" ศ.นพ.สุกิจ ระบุ

ศ.นพ.สุกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสำนักแพทย์ฯ จะนำองค์ความรู้ด้านทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง มาปรับประยุกต์ใส่เป็นหน่วยกิตไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างชัดเจนในเร็วๆ นี้ จากเดิมที่เป็นแค่หลักสูตรเสริม

ขณะที่ ผศ.ทพญ.ยุพิน ส่งไพศาล คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. ชี้แจงถึงเหตุผลการตัดสินใจเดินหน้าปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ร่วมกับสำนักแพทยศาสตร์ มทส. ว่า ทันตแพทย์ควรทำงานร่วมกันกับแพทย์ โดยต้องมีความเป็นมนุษย์ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งนักศึกษาจะเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากชุมชน

“งานของทันตแพทย์คือ อุด ถอน ใส่ ก็จะใกล้ช่างพอสมควร เวลาทำงานเลยรู้สึกว่าเราไม่ค่อยสื่อสารกับคนไข้เท่าไร แต่คนไข้กลับอยากสื่อสารกับเรา เพราะอยากจะรู้ว่าถ้าป่วยแบบนี้จะรักษาอย่างไร และโรคในช่องปากเป็นโรคที่ป้องกันได้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นถ้าได้คุยกับคนไข้แล้วเข้าใจเขา บอกวิธีดูแลตัวเอง เช่น คนเป็นโรคเบาหวานจะมีความสัมพันธ์กับเหงือกอักเสบ ถ้าบุคลากรด้านสุขภาพช่วยเหลือกัน จะทำให้เบาหวานลดอาการเหงือกอักเสบก็จะลดลง" ผศ.ทพญ.ยุพิน ระบุ

นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผู้เชี่ยวชาญในการปรับกระบวนทัศน์ภายในและเน้นเรียนรู้จากสถานที่จริงเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กล่าวว่า ปัญหาด้านสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันค่อนข้างซับซ้อน และการแก้ไขโดยกระทรวงสาธารณสุข มักเน้นการปรับด้านโครงสร้างที่ต้องการกำลังคนด้านสุขภาพจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแม้ระบบสาธารณสุขต้องการกำลังคน แต่เรื่องคุณภาพก็ต้องมาพร้อมกัน ดังนั้น โรงเรียนแพทย์จำเป็นต้องผลิตบัณฑิตแพทย์โดยเอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้ง

“สิ่งที่เราได้จากการฝังเรื่อง Mindset ให้นักศึกษาแพทย์ คือนักเรียนแพทย์บางคนถึงกับขอเรียนซ้ำชั้น เพราะคิดว่ายังไม่มีความรู้มากพอที่จะไปรักษาชาวบ้าน นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกินความหมาย” นพ.สรรัตน์ ระบุ

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก ศสช. กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ Mindset ปรับพฤติกรรมของบัณฑิตและบุคลากรด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุขว่า บัณฑิตและบุคลากรด้านสุขภาพของประเทศไทยมีความเป็นเลิศในแง่ฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงงานวิชาการต่างๆ แต่สิ่งที่ผู้ใช้ผลผลิตต้องการนับจากนี้ คือบุคลากรด้านสุขภาพที่มี “หัวใจความเป็นมนุษย์” และเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่จะเข้าไปเปลี่ยนสังคมโดยเฉพาะในด้านสุขภาพได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง