อุทยาน แจงกฎหมาย ม.19 ต้องเก็บซากเขากระทิง "แม่มะลิ"

สิ่งแวดล้อม
30 ก.ค. 60
12:35
4,070
Logo Thai PBS
อุทยาน แจงกฎหมาย ม.19 ต้องเก็บซากเขากระทิง "แม่มะลิ"
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช แจงการตัดและเก็บซากเขากระทิง แม่มะลิ ตายในเขตป่า เป็นแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายม.19 เพื่อไม่ให้ถูกขโมย หรือนำไปขายผิดกฎหมาย โดยจะมีการทำบัญชีซากสัตว์ป่าให้กรมขึ้นทะเบียน

กรณีสื่อสังคมออนไลน์ ได้มีการแชร์ข้อความทีโพสต์ผ่านเฟชบุ๊กของฮาลา ที่โพสต์R.I.P แม่มะลิ .... ที่มีอายุมากถูกฝูงทิ้ง และมาติดหล่มโคลนเสียชีวิต แม้ว่าจะมีการพยายามช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน สุดท้ายแม่มะลิก็จากไปอย่างสงบ ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานได้ทำการตัดหัวกระทิงมะลิ จึงมีการตั้งประเด็นสอบถามจากชาวบ้านและสังคมว่า "ทำไมต้องตัดหัวกระทิงกลับไป เพื่อประดับสำนักงาน"

วันนี้ (31 ก.ค.2560) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช บอกว่า ข่าวที่เกิดขึ้นยอมรับว่าเป็นภาพที่ไม่ดี  แต่การที่เจ้าหน้าที่ต้องตัดหัว ซาก เช่น เขากระทิง งาช้าง เขากวาง และสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ล้มตายในป่า หรือเป็นของกลางในคดี เป็นแนวทางตาามกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติ

เพราะซากของสัตว์ป่าเหล่านี้ หากฝังกลบทิ้งไว้แล้ว อาจจะเป็นช่องทางให้ถูกขโมยนำเขา งา มาขายได้ และเป็นสิ่งที่พ่อค้าตลาดมืด ต้องการอยู่แล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะนำสตัฟท์ไปโชว์ ประดับสำนักงาน ไม่ใช้ข้อเท็จจริง เพราะความจริงคือนำไปเก็บรักษาไว้ 

 

 

ชี้ม.19 กฎหมายอุทยานกำหนดนำไปเก็บรักษา 

ด้าน น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช  บอกว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ  นำหัวกระทิงมา ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการประดับประดาสำนักงานตามที่เป็นข่าว หากแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางลางตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไป เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ หรือการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ

โดยวัตถุประสงค์ของเจ้าหน้าที่ที่นำซากหัวกระทิงกลับมายังสำนักงาน เพื่อปกป้องทรัพยากรในพื้นที่อุทยาน เนื่องจากหัวกระทิงเป็นสิ่งมีมูลค่าราคาแพง เพื่อเป็นการป้องกันการลักลอบขุดซากหัวกระทิงไปจำหน่ายหรือ ครอบครองส่วนบุคคล เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องนำหัวกระทิงมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติบางลาง เพื่อเป็นสมบัติของประเทศชาติ โดยทางอุทยานแห่งชาติบางลางได้จัดทำบัญชีซากสัตว์ป่าและ จัดทำรายงานต่อกรมอุทยานแห่งชาติ 

นอกจากนี้ยังแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและ ประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมในพื้นที่โดยเฉพาะหัวกระทิงนอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้ ลักษณะสัณฐานวิทยาของเขากระทิงเพื่อจำแนกชนิดจากเขาสัตว์แล้ว ยังสามารถเรียนรู้การประเมินอายุของกระทิงจากการนับวงพาลี ซึ่งปกติโคนเขาของกระทิงจะหยักเป็นลอนคลื่น เรียกว่า "พาลี" พาลีจะปรากฏเป็นรูปร่างเมื่อกระทิงอายุย่างเข้าปีที่ 6 ซึ่งหากไม่ตัดและนำออกมาทันทีจะทำให้ลักษณะของพาลีที่เกิดขึ้นอาจถูกทำลายโดยแมลงที่กัดแทะปลอกเขาของซากกระทิง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง