ราชกิจจาฯเผยแพร่ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ

สังคม
1 ส.ค. 60
14:43
1,843
Logo Thai PBS
ราชกิจจาฯเผยแพร่ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ

วันที่ 31 ก.ค.2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 โดยมีเนื้อหาดังนี้

พระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดําเนินการ ปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560” มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “ยุทธศาสตร์ชาติ” หมายความว่า ยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ “แผนแม่บท” หมายความว่า แผนแม่บทตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” หมายความว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ “คณะกรรมการปฏิรูป” หมายความว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน และให้หมายความ รวมถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศสําหรับกรณีที่มีการแยกด้านออกเป็นเรื่องตามมาตรา 8 วรรคสาม ด้วย “กรรมการปฏิรูป” หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูป


หน้า 14 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560

“ที่ประชุมร่วม” หมายความว่า การประชุมร่วมกันตามมาตรา 17 “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า หน่วยงานที่เป็นของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือในรูปแบบอื่นใด และไม่ว่าจะเป็นองค์กรในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ “หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ผู้ดํารงตําแหน่งดังต่อไปนี้ (1) หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้อํานวยการหรือผู้บริหารสูงสุด ที่เรียกชื่ออย่างอื่นของรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน หรือหัวหน้าหรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน ของรัฐในรูปแบบอื่น สําหรับหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหาร (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือหัวหน้าหน่วยงาน สําหรับ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในกํากับของประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี (3) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญ สําหรับ องค์กรฝ่ายตุลาการ (4) คณะกรรมการหรือคณะบุคคลที่เป็นองค์กรอิสระและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สําหรับ องค์กรอิสระ (5) อัยการสูงสุด สําหรับองค์กรอัยการ “สํานักงาน” หมายความว่า สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด 1 การปฏิรูปประเทศ


มาตรา 5 การปฏิรูปประเทศต้องดําเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้ (1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนา ด้านจิตใจ (2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ํา (3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปฏิรูปประเทศต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ


หน้า 15 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560


มาตรา 6 ให้มีแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อกําหนดกลไก วิธีการ และขั้นตอน การดําเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ แต่ละด้านตามมาตรา 8 รวมทั้งผลอันพึงประสงค์ ของการปฏิรูปประเทศในด้านนั้น ๆ ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ การจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน จะทําเป็นแผนเดียวกันหรือแยกเป็นแผนแต่ละด้าน หรือหลายด้านรวมกันก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องสอดคล้องกับแผนแม่บท และเมื่อได้รับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรีและรายงานต่อรัฐสภาเพื่อทราบแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับ ต่อไป หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดําเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ การปฏิรูปประเทศบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ ให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะกํากับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ดําเนินการให้เป็นไปตามวรรคสาม ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ การกํากับดูแลตามวรรคสี่ ให้หมายความถึงการประสาน การปรึกษา หรือเสนอแนะ ต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าว มาตรา 7 แผนการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) แผน ขั้นตอน และวิธีการดําเนินการปฏิรูปประเทศ และผลอันพึงประสงค์ในด้านที่จะ ดําเนินการปฏิรูป ซึ่งต้องสอดคล้องกับผลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ (2) กําหนดระยะเวลาที่ต้องดําเนินการในแต่ละขั้นตอนตามลําดับในลักษณะที่เป็นการบูรณาการ และตัวชี้วัดผลการดําเนินการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน (3) การกําหนดหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่รับผิดชอบการดําเนินการตาม (1) และ (2) (4) วงเงินที่คาดว่าจะใช้ในการดําเนินการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านหรือแต่ละเรื่อง ตามมาตรา 8 แล้วแต่กรณี รวมตลอดทั้งประมาณการของแหล่งที่มาของเงิน (5) ผลสัมฤทธิ์ในการดําเนินการปฏิรูปประเทศที่คาดหวังว่าจะบรรลุภายในระยะเวลาห้าปี (6) การเสนอให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่จําเป็นเพื่อดําเนินการตามแผนการปฏิรูป ประเทศ การจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาความเร่งด่วนของการปฏิรูป ประเทศในแต่ละด้านเพื่อกําหนดลําดับขั้นตอนในการปฏิรูปประเทศ และต้องคํานึงถึงความพร้อม ทางด้านบุคลากรและการเงินการคลังของประเทศด้วย มาตรา 8 ให้จัดทําแผนการปฏิรูปประเทศในด้าน ดังต่อไปนี้ (1) ด้านการเมือง (2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (3) ด้านกฎหมาย


หน้า 16 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560

(4) ด้านกระบวนการยุติธรรม (5) ด้านการศึกษา (6) ด้านเศรษฐกิจ (7) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (8) ด้านสาธารณสุข (9) ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ (10) ด้านสังคม (11) ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด ที่ประชุมร่วมโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีจะแยกด้านตามวรรคหนึ่ง นอกจากด้านตาม (5) ออกเป็นเรื่องต่าง ๆ ก็ได้ ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านเพื่อทําหน้าที่จัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ตามวรรคหนึ่ง และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย ในกรณีที่มีการแยก ด้านใดออกเป็นเรื่องตามวรรคสอง ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศสําหรับเรื่องนั้นเป็นคณะแยกจากกัน ในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ตามมาตรา 258 ง. (4) และด้านการศึกษาตามมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา ของรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 260 หรือมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดําเนินการ การจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ที่ประชุมร่วมกําหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ อย่างน้อย ต้องกําหนดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 11 วรรคสอง รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะขององค์กรฝ่ายตุลาการมาใช้ประกอบ การพิจารณาในการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรฝ่ายตุลาการด้วย มาตรา 9 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรกําหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านอื่นใด ตามมาตรา 8 (11) ให้ส่งเรื่องให้ที่ประชุมร่วมกําหนดผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศ ในด้านดังกล่าว และดําเนินการตามมาตรา 11 ต่อไป มาตรา 10 การปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านให้ดําเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ (1) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตามมาตรา 8 (2) ให้ที่ประชุมร่วมกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทําร่างแผนการปฏิรูป ประเทศให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตาม (1) แล้วเสนอ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในสิบห้าวัน และ (3) ให้เริ่มดําเนินการจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศตามกระบวนการและระยะเวลาที่กําหนดไว้ ในมาตรา 11


หน้า 17 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560

มาตรา 11 การจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ให้ดําเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ (1) ให้คณะกรรมการปฏิรูปจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบให้แล้วเสร็จ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลาตามมาตรา 10 (2) แล้วเสนอที่ประชุมร่วมพิจารณา ให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวัน (2) เมื่อที่ประชุมร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศแล้ว ให้เสนอ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่าง (3) ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านการพิจารณาแล้ว ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในสามสิบวัน และดําเนินการตามมาตรา 6 วรรคสอง ต่อไป ในการดําเนินการตาม (1) ให้คณะกรรมการปฏิรูปเชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับ การปฏิรูปประเทศในด้านนั้น เข้าร่วมชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการดําเนินการ รวมทั้ง จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะได้โดยสะดวกและทั่วถึง ทั้งนี้ ต้องมีการแสดงข้อมูลที่เพียงพอแก่การที่ประชาชน จะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปคณะใดภายหลังพ้นกําหนดเวลาตามมาตรา 10 (2) การนับเวลาตามที่กําหนดไว้ใน (1) ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปคณะนั้น ระยะเวลาการดําเนินการตามที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปก็ได้ตามความจําเป็น มาตรา 12 การปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและด้านการศึกษาตามมาตรา 8 วรรคสี่ ให้คณะกรรมการตามมาตราดังกล่าวดําเนินการโดยอิสระตามแนวทางที่เห็นสมควร และให้ส่ง ข้อเสนอแนะหรือร่างกฎหมายในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อดําเนินการตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) หรือ จ. ด้านการศึกษา ของรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เพื่อให้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนความสอดคล้อง และบูรณาการ กับแผนการปฏิรูปประเทศด้านอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย และเมื่อ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดําเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะ ดังกล่าวโดยพลัน ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่มาตรา 260 หรือมาตรา 261 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ แล้วแต่กรณี


หน้า 18 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560


มาตรา 13 ในกรณีมีเหตุจําเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านใดเพราะมี การแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บทหรือเพราะเหตุอื่นใด ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ คณะกรรมการปฏิรูปด้านนั้นดําเนินการแก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านนั้นโดยเร็ว โดยให้นําความใน มาตรา 11 มาใช้บังคับโดยอนุโลม การแก้ไขปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับผลตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ หมวด 2 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ


มาตรา 14 ภายใต้บังคับมาตรา 8 วรรคสามและวรรคสี่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แต่ละด้านประกอบด้วยคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะที่คณะรัฐมนตรีกําหนด โดยแต่ละคณะ ให้ประกอบด้วย ประธานกรรมการปฏิรูปคนหนึ่ง และกรรมการปฏิรูปจํานวนไม่เกินสิบสามคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านที่จะดําเนินการปฏิรูป โดยคํานึงถึงความหลากหลายของผู้มีประสบการณ์ในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องประกอบกัน ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการปฏิรูปและเลขานุการคนหนึ่งตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความเหมาะสม กรรมการปฏิรูปต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่เกินเจ็ดสิบห้าปี มาตรา 15 กรรมการปฏิรูปมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละห้าปี ให้กรรมการปฏิรูปซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า กรรมการปฏิรูปซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ กรรมการปฏิรูปซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ มาตรา 16 นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระ กรรมการปฏิรูปพ้นจากตําแหน่งเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 14 วรรคสาม (4) ดําเนินการตามมาตรา 11 ไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา (5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ มาตรา 17 ให้มีการประชุมร่วมกันของประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ เพื่อพิจารณา แผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านให้เกิดการบูรณาการและสอดคล้องกับแผนแม่บท และดําเนินการอื่น


หน้า 19 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560


ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มอบหมายเป็นประธานของที่ประชุมร่วม ให้เลขาธิการเป็นเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความเหมาะสม ประธานกรรมการปฏิรูปตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงประธานคณะกรรมการตามมาตรา 8 วรรคสี่ มาตรา 18 เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการปฏิรูปประเทศ ให้ที่ประชุมร่วมมีหน้าที่ และอํานาจ ดังต่อไปนี้ (1) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (2) พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 (1) (3) กําหนดวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทํา แผนการปฏิรูปประเทศ และการมีส่วนร่วมในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดําเนินการ ตามแผนการปฏิรูปประเทศ และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนดําเนินการ ให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ (4) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอแนะต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องเกี่ยวกับการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ (5) กําหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้หน่วยงาน ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศใช้ในการประเมินผล (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น หรือตามที่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย มาตรา 19 ให้คณะกรรมการปฏิรูปมีอํานาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วย คณะกรรมการปฏิรูปในการดําเนินการตามมาตรา 18 (3) ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกําหนด มาตรา 20 การประชุมของที่ประชุมร่วม คณะกรรมการปฏิรูป และคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมร่วมกําหนด มาตรา 21 ให้ประธานของที่ประชุมร่วม ประธานกรรมการปฏิรูป กรรมการปฏิรูป และอนุกรรมการตามมาตรา 19 ได้รับค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ คณะรัฐมนตรีกําหนด มาตรา 22 ในกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปจําเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด จะขอให้สํานักงานจ้างบุคคล สถาบันการศึกษา หรือสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัย เพื่อดําเนินการศึกษาค้นคว้าและจัดทํารายงานเรื่องดังกล่าวก็ได้ วิธีการจ้าง ค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอื่นของบุคคลหรือสถาบันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมร่วมกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ


หน้า 20 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560


มาตรา 23 ให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทําหน้าที่ สํานักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูป โดยมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้ (1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการปฏิรูปและคณะอนุกรรมการ (2) ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลและความเห็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณากําหนด แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งจัดหาและพัฒนาข้อมูลเพื่อสนับสนุนงาน ด้านวิชาการให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปและคณะอนุกรรมการ (3) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับการดําเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้ (4) ดําเนินการให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมตามมาตรา 11 วรรคสอง (5) เผยแพร่แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งดําเนินการอื่นใดที่จําเป็นต่อการขับเคลื่อน แผนการปฏิรูปประเทศ (6) รับผิดชอบในการดําเนินการให้มีการประเมินผลการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ และการจัดทํารายงานตามมาตรา 25 มาตรา 27 และมาตรา 28 วรรคสอง (7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะกรรมการปฏิรูป หรือที่ประชุมร่วมมอบหมาย ในการดําเนินการตาม (2) ให้นําความในมาตรา 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด 3 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล


มาตรา 24 ให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ข้อเสนอแนะในการวางระเบียบตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินงานขององค์กร ในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประสานและปรึกษากับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวด้วย มาตรา 25 เพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดําเนินการดังกล่าวต่อสํานักงานภายในเวลาและตามรายการ ที่สํานักงานกําหนด ให้สํานักงานจัดทํารายงานสรุปผลการดําเนินการประจําปีเสนอต่อที่ประชุมร่วมเพื่อให้ ความเห็นชอบ และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้สํานักงานเสนอรายงานต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสอง และรัฐสภาทราบภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานตามวรรคหนึ่ง


หน้า 21 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560


รายงานตามวรรคสองอย่างน้อยต้องระบุความก้าวหน้าของการปฏิรูปประเทศ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา มาตรา 26 ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการปฏิรูปคณะใดว่าการดําเนินการใด ของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ ให้ดําเนินการดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่เป็นหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหาร ให้คณะกรรมการปฏิรูปคณะนั้น ประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐดังกล่าวหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือที่กํากับดูแล เพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ ให้คณะกรรมการปฏิรูป แจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา และเมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีมติ ประการใดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น (2) ในกรณีที่เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสอง ให้คณะกรรมการปฏิรูป คณะนั้นประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสอง เพื่อแก้ไข ปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น และให้ดําเนินการตามที่ตกลงร่วมกัน แล้วรายงานให้คณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ชาติทราบ มาตรา 27 ในกรณีที่มีปัญหาอุปสรรคไม่อาจดําเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศได้ และเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือในกรณีมีเหตุอื่นใดเป็นการเร่งด่วนเฉพาะเรื่อง ให้สํานักงานโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง รายงานปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา ให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสอง หรือรัฐสภาทราบโดยด่วน เพื่อพิจารณาดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป มาตรา 28 ให้สํานักงานเผยแพร่รายงานที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐและรายงานสรุป ผลการดําเนินการประจําปีตามมาตรา 25 และรายงานเป็นการเฉพาะเรื่องตามมาตรา 27 ให้ประชาชนทราบทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสํานักงาน เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สํานักงานจัดให้มีวิธีการที่ประชาชนซึ่งพบ หรือเห็นว่าหน่วยงานของรัฐหน่วยใดไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ สามารถแจ้งเหตุ ดังกล่าวให้สํานักงานทราบได้โดยสะดวกและรวดเร็ว บทเฉพาะกาล


มาตรา 29 ในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตามมาตรา 8 ให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 ในวาระเริ่มแรก หากคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดให้การดําเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กําหนด คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้กรรมการปฏิรูปผู้ใดพ้นจากตําแหน่งได้ โดยมิให้นํามาตรา 16 (5) มาใช้บังคับ


หน้า 22 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560


มาตรา 30 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ประชุมร่วมตามมาตรา 10 (2) ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แล้ว แต่ยังไม่มีคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ ให้ที่ประชุมร่วมตามมาตรา 17 ประกอบด้วยประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง โดยให้ประธานกรรมการ ปฏิรูปเลือกกันเองให้ประธานกรรมการปฏิรูปคนหนึ่งทําหน้าที่ประธานในที่ประชุม มาตรา 31 เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปตามกําหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ การกําหนดระยะเวลาดําเนินการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน ตามมาตรา 7 ต้องกําหนดให้เริ่มดําเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้ง ต้องกําหนดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุภายในระยะเวลาห้าปีด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกําหนด ระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น ในวาระเริ่มแรก การขยายระยะเวลาการดําเนินการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 วรรคสี่ ให้คํานึงถึงระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 ให้นํารายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ประเทศ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้าง ความสามัคคีปรองดอง กระทรวงกลาโหม และสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ที่ได้จัดทําขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้ประกอบการพิจารณาจัดทําร่างแผนการปฏิรูป ประเทศด้วย และให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการปฏิรูปประเทศที่องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐและประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทําร่างแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 11 วรรคสอง มาตรา 33 ในระหว่างระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีต้องแจ้งความคืบหน้าในการดําเนินการ ตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือนตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ให้เป็นหน้าที่ ของสํานักงานในการจัดทํารายงานดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีไม่ช้ากว่าสิบวันก่อนครบกําหนด สามเดือนดังกล่าว

ผู้รับสนองพระราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


หน้า 23 เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก ราชกิจจานุเบกษา 31 กรกฎาคม 2560

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 259 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการ ปฏิรูปประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทําแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดําเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดําเนินการ และระยะเวลาดําเนินการปฏิรูปประเทศ ทุกด้าน จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง