ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

สังคม
1 ส.ค. 60
14:49
4,659
Logo Thai PBS
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่ 31 ก.ค.2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 โดยมีรายละเอียดดังนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560” มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ “แผนแม่บท” หมายความว่า แผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า หน่วยงานที่เป็นของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือในรูปแบบอื่นใด และไม่ว่าจะเป็นองค์กรในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ “หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ผู้ดํารงตําแหน่งดังต่อไปนี้

(1) หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้อํานวยการหรือผู้บริหารสูงสุด ที่เรียกชื่ออย่างอื่นของรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน หรือหัวหน้าหรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานของรัฐในรูปแบบอื่น สําหรับหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหาร
(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือหัวหน้าหน่วยงาน สําหรับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในกํากับของประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี
(3) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญ สําหรับองค์กร ฝ่ายตุลาการ
(4) คณะกรรมการหรือคณะบุคคลที่เป็นองค์กรอิสระและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สําหรับองค์กรอิสระ
(5) อัยการสูงสุด สําหรับองค์กรอัยการ “สํานักงาน” หมายความว่า สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ หมวด 1 ยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรา 5 ให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าวตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี การประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติให้ทําเป็นประกาศพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดําเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ การกําหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทําแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และแผนอื่นใด รวมตลอดทั้งการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะกํากับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ดําเนินการให้เป็นไปตามวรรค 2 และวรรค 3 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ การกํากับดูแลตามวรรค 4 ให้หมายความถึงการประสาน การปรึกษา หรือเสนอแนะ ต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าว

มาตรา 6 ยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (2) เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว กําหนดระยะเวลาที่ต้องดําเนินการเพื่อให้บรรลุ เป้าหมาย และตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย (3) ยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ เป้าหมายการพัฒนาประเทศตาม (2) อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายในด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านคุณภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนและด้านบทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน

มาตรา 7 การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติต้องคํานึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติ ความต้องการและความจําเป็นในการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนา ที่ยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล และเป้าหมายการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยให้ดําเนินการตามกระบวนการ ดังต่อไปนี้ (1) มีการใช้ข้อมูลความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ (2) วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างรอบด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสและข้อจํากัด รวมทั้งความเสี่ยงของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น (3) การให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกําหนดเป้าหมาย การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน การกําหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามมาตรา 6 (1) และ (2) ต้องมีความชัดเจนเพื่อให้เห็นภาพในอนาคตของประเทศ โดยเป็นรอบอย่างกว้างที่ยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องกําหนดระยะเวลาการดําเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งมีการระบุตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมายไว้ให้ชัดเจน

มาตรา 8 ในกระบวนการจัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการจัดให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ (1) การรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นเพื่อนํามาใช้จัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติ (2) การรับฟังความคิดเห็นเมื่อจัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ แล้วเสร็จเบื้องต้น เพื่อนํามาแก้ไขปรับปรุง การรับฟังความคิดเห็นตามวรรค 1 ให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด ซึ่งต้องใช้ วิธีการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้โดยสะดวกและทั่วถึง และต้องมีการแสดงข้อมูลที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย

มาตรา 9 เมื่อคณะกรรมการดําเนินการจัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติเสร็จแล้ว ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใดให้ส่งคืนคณะกรรมการดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร แล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อดําเนินการต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีนําร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับจากคณะกรรมการหรือที่คณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติม ตามวรรค 1 แล้ว เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติและลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้แล้วเสร็จ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ และให้วุฒิสภาพิจารณาและลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างจากสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา ตามวรรค 3 ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ได้ให้ความเห็นชอบในร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะรัฐมนตรีเสนอในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้ร่างยุทธศาสตร์ชาติเป็นอันตกไป และให้คณะกรรมการดําเนินการจัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ได้ ซึ่งต้องกระทําให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ โดยให้ดําเนินการตามวรรค 1 วรรค 2 วรรค 3 และวรรค 4 เว้นแต่ระยะเวลา 60 วัน และ 30 วันตามวรรค 3 ให้ลดเหลือ 30 วันและ 60 วัน แล้วแต่กรณี ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรา 10 เมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านจัดทําแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี แผนแม่บทและแผนการปฏิรูปประเทศตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการ ปฏิรูปประเทศต้องมีความสอดคล้องกัน แผนแม่บทที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น รวมทั้งการจัดทํางบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทด้วย ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ามีความจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บท ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจําเป็นของประเทศ ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีก่อน และเมื่อคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว จึงดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

มาตรา 11 ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี หรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลก หรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดําเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งด้านใดได้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ให้คณะกรรมการขอความเห็นชอบ จากรัฐสภาก่อนดําเนินการ

เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้คณะกรรมการดําเนินการตามกระบวนการที่กําหนดไว้ในหมวดนี้ และเมื่อได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ หมวด 2 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรา 12 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ประกอบด้วย (1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 (2) ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 (4) รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการคนที่ 3 (5) ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้า แห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ (6) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่เกิน 75 ปี ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านความมั่นคง ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ จํานวนไม่เกิน 70 คน ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย และรองเลขาธิการซึ่งเลขาธิการมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการในการแต่งตั้งกรรมการตาม (6) ให้คํานึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและความหลากหลายของช่วงอายุด้วย ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการตาม (2) (3) (4) หรือ (5) ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

มาตรา 13 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 5 ปี ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา 14 นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 12 (6) (4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

มาตรา 15 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้ (1) จัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (2) กําหนดวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติ และการมีส่วนร่วมในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนดําเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (3) เสนอความเห็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (4) กํากับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตามที่กําหนดไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา 16 ในการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อพิจารณาจัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการกําหนดและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแต่ละคณะให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น จํานวนไม่เกิน 15 คน โดยในการแต่งตั้งให้คํานึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และความหลากหลายของช่วงอายุด้วย ในการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมหรือภารกิจขององค์กรอิสระ ให้แต่งตั้งผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการด้วย

มาตรา 17 ให้คณะกรรมการและคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติมีอํานาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแล้วแต่กรณี มอบหมาย

มาตรา 18 การประชุมของคณะกรรมการ คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ และคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด ในการประชุมของคณะกรรมการ ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการจะมอบหมาย บุคคลใดให้มาประชุมแทนไม่ได้

มาตรา 19 การปฏิบัติหน้าที่และการพ้นจากตําแหน่งของคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ และคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

มาตรา 20 ในกรณีที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติจําเป็นต้องได้ ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด จะขอให้สํานักงานจ้างบุคคล สถาบันการศึกษา หรือสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัย เพื่อดําเนินการศึกษาค้นคว้าและจัดทํารายงานเรื่องดังกล่าวก็ได้ วิธีการจ้าง ค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอื่นของบุคคลหรือสถาบันตามวรรค 1 ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

มาตรา 21 ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ ประธานกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ กรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ และอนุกรรมการตามมาตรา 17 ได้รับค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด

มาตรา 22 ให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทําหน้าที่สํานักงานเลขานุการของคณะกรรมการและคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ โดยมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้ (1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ และคณะอนุกรรมการ (2) ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลและความเห็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาจัดทํา ยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งจัดหาและพัฒนาข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการให้แก่คณะกรรมการ คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ และคณะอนุกรรมการ (3) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับการดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (4) ดําเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามมาตรา 8 (5) เผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท รวมทั้งดําเนินการอื่นใดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างแนวร่วมในการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (6) รับผิดชอบในการดําเนินการให้มีการประเมินผลการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และการจัดทํารายงานตามมาตรา 24 และมาตรา 27 วรรค 2 (7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการและ คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย หมวด 3 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล

มาตรา 23 ให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ข้อเสนอแนะในการวางระเบียบตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินงานขององค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้คณะกรรมการประสานและปรึกษากับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวด้วย

มาตรา 24 เพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดําเนินการดังกล่าวต่อสํานักงานภายในเวลาและตามรายการที่สํานักงานกําหนด ให้สํานักงานจัดทํารายงานสรุปผลการดําเนินการประจําปีเสนอต่อคณะกรรมการ คณะรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 23 วรรค 2 และรัฐสภาทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับ รายงานจากหน่วยงานตามวรรค 1 ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุความก้าวหน้าของการดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดําเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติด้วย ในกรณีมีเหตุอันควรรายงานให้รัฐสภาทราบเป็นการเฉพาะเรื่อง ให้คณะกรรมการ จัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านที่เกี่ยวข้องรายงานต่อคณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการเสนอรัฐสภาเป็นการเฉพาะเรื่องได้

มาตรา 25 ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณารายงานตามมาตรา 24 แล้ว เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการตามมาตรา 26 วรรค 2 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติพิจารณาดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นตามหน้าที่และอํานาจให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออก จากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป

มาตรา 26 ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติว่าการดําเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบถึงความไม่สอดคล้อง และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง และเมื่อหน่วยงานของรัฐดําเนินการแก้ไขปรับปรุงประการใดแล้ว ให้แจ้งให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติทราบภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่แจ้งการดําเนินการให้คณะกรรมการ จัดทํายุทธศาสตร์ชาติทราบภายในกําหนดเวลาตามวรรค 1 ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการทราบเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและสั่งการต่อไป เว้นแต่เป็นกรณีของหน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้แจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวเพื่อพิจารณาดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการตามวรรค 2 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และให้คณะกรรมการ จัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อดําเนินการ ตามหน้าที่และอํานาจต่อไป และให้นําความในมาตรา 25 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 27 ให้สํานักงานเผยแพร่รายงานที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐ และรายงานสรุปผลการดําเนินการประจําปีและรายงานเป็นการเฉพาะเรื่องตามมาตรา 24 ให้ประชาชนทราบทางระบบเทคโนโลยี สารสนเทศของสํานักงาน เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สํานักงานจัดให้มีวิธีการที่ประชาชนซึ่งพบหรือเห็นว่าหน่วยงานของรัฐหน่วยใดไม่ดําเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท สามารถแจ้งเหตุดังกล่าวให้สํานักงานทราบได้โดยสะดวกและรวดเร็ว

บทเฉพาะกาล

มาตรา 28 ในวาระเริ่มแรก เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปตามกําหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ ให้การดําเนินการเกี่ยวกับการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติเป็นไปตามกําหนดเวลา ดังต่อไปนี้ (1) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 12 (6) ให้แล้วเสร็จภายใน 30 นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (2) ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง (3) ให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นที่คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2558 และสํานักงานได้ดําเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นการดําเนินการตามมาตรา 8 (1) แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอํานาจที่จะดําเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม (4) ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ จัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2558 จัดทําขึ้น มาใช้เป็นหลักในการจัดทําร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นดังกล่าว และให้นําความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองมาประกอบการพิจารณา รวมทั้งให้คํานึงถึงความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับตาม (3) ด้วย (5) ให้สํานักงานดําเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 8 (2) ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นตาม (4) (6) ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ แก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับผลการรับฟังความคิดเห็นตาม (5) ให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการภายใน 45 วัน นับแต่วันที่การรับฟังความคิดเห็นตาม (5) แล้วเสร็จ (7) ให้คณะกรรมการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ (๘) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่ รัฐสภาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะกรรมการ (๙) ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะรัฐมนตรี (๑๐) ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างยุทธศาสตร์ชาติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบแล้ว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 10 นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติตาม (8) ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วตาม (8) ต่อวุฒิสภาภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณา ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ จากคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงก่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตาม (9) จะแล้วเสร็จ ให้วุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติต่อไปให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ และในกรณีที่จําเป็นอาจขยายระยะเวลาอีกได้แต่ต้องไม่เกิน 10 วัน เมื่อวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติตามวรรค 2 หรือวรรค 3 แล้ว ให้นายกรัฐมนตรีดําเนินการตาม (10) ต่อไป

มาตรา 29 ในระหว่างอายุของวุฒิสภาตามมาตรา 269 (4) ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่การดําเนินการของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดําเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการและวุฒิสภาทราบ และให้วุฒิสภาดําเนินการตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่วุฒิสภาเห็นว่ากรณีเป็นปัญหาว่ามติของคณะรัฐมนตรีหรือการดําเนินการของคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภามีมติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของคณะรัฐมนตรี หรือการดําเนินการของคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจโดยเร็ว

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยในการจัดทําการกําหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง