ชาวเกาหลีเบื่อกระแสดันลูกหลานดาราเข้าวงการบันเทิง

Logo Thai PBS
ชาวเกาหลีเบื่อกระแสดันลูกหลานดาราเข้าวงการบันเทิง
การนำลูกหลานคนดังเข้าสู่วงการบันเทิง เป็นหนึ่งในทางลัดเรียกความสนใจ แต่ที่เกาหลีใต้กำลังถูกจับตาว่าเป็นการฉวยโอกาสนำพื้นที่สาธารณะมาเอื้อประโยชน์กับพวกพ้อง

การร่วมลุ้นลูกๆ ของคนวงการบันเทิง ที่ถูกส่งไปใช้ชีวิตในประเทศเนปาลเพียงลำพังเป็นเวลา 11 วัน คือเนื้อหาของ Escaping the Nest เรียลลิตี้ โชว์ รายการใหม่ ที่เปิดตัวในเกาหลีใต้เมื่อเดือนก่อน ด้วยจำนวนยอดผู้ชมสูงเทียบเท่ารายการก่อนหน้า แสดงถึงความนิยมต่อรายการที่นำเสนอความสัมพันธ์ของครอบครัวคนวงการบันเทิง

ที่มากระแสรายการที่นำครอบครัวคนบันเทิงมาเป็นจุดขาย มาจากความสำเร็จของ Dad! Where Are You Going? เรียลลิตี้ โชว์ ที่นำเสนอการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคุณพ่อคนดังและทายาทตัวน้อย และ The Return of Superman รายการที่เปิดโอกาสให้พ่อบ้านโชว์ฝีมือเลี้ยงลูกๆ เพียงลำพังระหว่างที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน การเปิดตัวของทั้ง 2 รายการในปี 2013 ได้รับการตอบรับอย่างสูง มีการนำไปผลิตซ้ำและโด่งดังทั้งในเวอร์ชั่นของจีนและไทย

จุดขายด้านการล้วงลึกความสัมพันธ์หลังบ้านคนดัง นำไปสู่การผลิตรายการแนวนี้อย่างมากมาย ทั้ง My Ugly Duckling รายการที่ให้คุณแม่ติดตามกิจวัตรของหนุ่มคนดังที่ยังไม่มีครอบครัว, รายการ Honey ที่ล้วงลึกความสัมพันธ์ของดารากับกับพ่อแม่คู่สมรส และรายการที่ติดตามความรู้สึกของคุณพ่อวงการบันเทิง ที่จับตาความสัมพันธ์ของลูกสาวกับหนุ่มๆ ที่เข้ามาจีบใน My Daughter's Boyfriend

รวมไปถึงการดึงทายาทคนดังเข้าวงการ ทั้ง คิมจูฮยอน ลูกสาวของนักร้องรุ่นใหญ่ คิมฮึงกุก ที่ถูกจับตาเมื่อได้รับเลือกเข้าร่วมรายการปั้นนักร้อง Idol School, กระแสวิจารณ์ต่อโชเฮจอง ลูกสาวของดารารุ่นใหญ่ โชแจฮยอง ที่ได้รับบทนำในละคร หลังจากไปออกรายการร่วมกับเขา ไม่ต่างจากเสียงวิจารณ์ต่อ พักยองซู ดาวตลกที่พาภรรยาคนสวยมาออกรายการ Infinite Challenge ไม่นานหลังจากเปิดใจว่าอยากเข้าวงการเธอก็ได้รับเชิญมาร่วมเรียลลิตี้ โชว์ Single Wife รายการตามติดการท่องเที่ยวของกลุ่มแม่บ้านที่มีสามีเป็นคนวงการบันเทิง

การใช้ชื่อเสียงพ่อแม่คนดังเบิกทางสู่วงการบันเทิง เริ่มสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชมในแดนโสม เพราะมองว่าคนเหล่านี้สร้างรายได้อย่างง่ายดาย ขณะที่หนุ่มสาวอีกมากมายต้องดิ้นรนเพื่อโอกาสในชีวิต โดยเฉพาะวงการบันเทิงที่มีการแข่งขันอย่างสูง การเข้ามาของลูกหลานคนดัง จึงถูกมองเป็นการปิดโอกาสหนุ่มสาวที่มีความสามารถที่แท้จริง

สาเหตุที่การดึงญาติคนดังมาออกรายการโทรทัศน์กลายเป็นกระแส เนื่องจากผู้ผลิตมองว่าเป็นทางลัดที่จะทำให้รายการเป็นที่สนใจ แต่การใช้ชื่อเสียงของพ่อแม่เป็นสะพานก็เป็นดาบสองคม ที่นำไปสู่การจับจ้องเรื่องการใช้เส้นสาย มีดาราบางคน เช่น พระเอกหนุ่ม ฮาจูงวู ที่ขอเข้าวงการโดยปกปิดสถานะการเป็นทายาทคนวงการบันเทิง ซึ่งศาสตราจารย์ยุนแห่งมหาวิทยาลัยชุงนัม มองว่าการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างสื่อโทรทัศน์ มาเอื้อประโยชน์ให้กับลูกหลานคนดัง เทียบได้กับการนำโอกาสที่เปิดให้สาธารณชน มาใช้เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ส่วนตัว

ในต่างประเทศ เรียลิตี้ โชว์ที่ประสบความสำเร็จ มักมีผู้ร่วมรายการเป็นคนธรรมดา แต่ผู้ชมเกาหลีใต้และเมืองไทยที่ยังชื่นชอบการตามติดชีวิตคนดัง การทำรายการจึงจำเป็นต้องเน้นผู้ร่วมรายการที่มีชื่อเสียงเช่นนี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง