คนขับรถรับส่งนักเรียนในภาคเหนือเรียกร้องเพื่อนร่วมอาชีพใส่ใจเด็กและจดทะเบียนให้ถูกต้อง

ภูมิภาค
3 ส.ค. 60
19:47
610
Logo Thai PBS
คนขับรถรับส่งนักเรียนในภาคเหนือเรียกร้องเพื่อนร่วมอาชีพใส่ใจเด็กและจดทะเบียนให้ถูกต้อง
คนขับรถรับส่งนักเรียนในภาคเหนือเรียกร้องให้เพื่อนร่วมอาชีพใส่ใจเด็กเล็กเหมือนลูกหลานตัวเองและให้นำรถไปขออนุญาตให้ถูกต้องที่ขนส่งแต่ละจังหวัด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ขณะที่กรมขนส่งทางบกเผยมีรถที่ใช้งานผิดประเภทจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 มากถึง 2,788 คัน

วันนี้ (3 ส.ค.2560) ทีมข่าวไทยพีบีเอสสำรวจรถรับส่งนักเรียนใน จ.อุตรดิตถ์ และ จ.ลำปาง พบว่าปฏิบัติตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบกและระเบียบว่าด้วยการควบคุมดูแลรถโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีผู้ดูแลรถและตรวจนับจำนวนนักเรียนขึ้นและลงจากรถ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถตู้ และรถสองแถว แต่มีประตูและที่กั้นท้ายเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่คนขับรถรับส่งนักเรียนใน จ.อุตรดิตถ์ ยอมรับว่าสะเทือนใจกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ซึ่งสาเหตุมาจากความประมาทของคนขับรถนักเรียน จนกระทบกับภาพลักษณ์ในภาพรวม พร้อมเรียกร้องให้เพื่อนร่วมอาชีพ ใส่ใจเด็กเล็กเหมือนลูกหลานตัวเอง และให้นำรถไปขออนุญาตให้ถูกต้องที่ขนส่งแต่ละจังหวัด เพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า รถโรงเรียนที่ถูกต้องจะต้องเป็นรถของโรงเรียน แต่วิถีชีวิตประชาชนในต่างจังหวัดนิยมใช้การรวมตัวกันแล้วใช้รถ ซึ่งไม่ใช่รถที่ได้รับการอนุญาต ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศให้ผู้สนใจสามารถนำรถมาจดทะเบียนให้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ แต่กรณีดังกล่าวเป็นรถที่ไม่ได้จดทะเบียน ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าพนักงานได้ส่งฟ้องศาลแล้วว่ามีความผิดฐานใช้รถผิดประเภท

สำหรับรถที่จดทะเบียนเป็นรถโรงเรียน จะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา และต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นอย่างมั่นคงแข็งแรง, ไม่มีพื้นที่สำหรับนักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด

ส่วนกรณีรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น โดยต้องนำรถเข้าตรวจสอบที่สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายจากการขับรถ รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืน สั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว

ขณะที่กรมการขนส่งทางบกระบุว่ามีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และนำรถใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม
เปิดเหตุผลแม่บริจาคอวัยวะ "น้องกาก้า" ให้สภากาชาดไทย 

ครอบครัวรับศพเด็กนักเรียนเสียชีวิตจากขาดอากาศหายใจในรถ 


เด็กชาย วัย 6 ปี ถูกลืมอยู่ในรถรับส่งนักเรียน จ.พระนครศรีอยุธยา เสียชีวิตแล้ว

คนขับรถนักเรียนลืมเด็ก ป.1ในรถนาน 6 ชม. อาการยังสาหัส 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง