กรมชลฯ ยอมลดปริมาณการระบายน้ำเขื่อนลำปาว หลังผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ไม่เห็นด้วย

ภัยพิบัติ
4 ส.ค. 60
20:27
4,458
Logo Thai PBS
กรมชลฯ ยอมลดปริมาณการระบายน้ำเขื่อนลำปาว หลังผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ไม่เห็นด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่เห็นด้วยที่กรมชลประทานจะคงการระบายน้ำที่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพราะมองว่าทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำของจังหวัดกาฬสินธุ์ได้รับผลกระทบเพิ่ม

วันนี้ (4 ส.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทานต้องรักษาเสถียรภาพของเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยคงการระบายน้ำ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังจากเขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มสูงขึ้นที่ 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 1,980 ล้านลูกบากศ์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 87 ของความจุอ่าง

ความจุของเขื่อนที่เหลือพื้นที่รองรับน้ำเพียง 280 ล้านลูกบาศก์เมตรจะเกินระดับกักเก็บ ส่งผลให้กรมชลประทานหารือกับส่วนราชการในจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อคงการระบายน้ำต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม

 

 

แต่การหารือ นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่เห็นด้วยและขอให้กรมชลประทานลดปริมาณการระบายน้ำออกจากเขื่อน เพราะขณะนี้พื้นที่ 5 อำเภอ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ยังถูกน้ำท่วมสูง

กรมชลประทานยึดหลักการระบายน้ำตามเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ ทั้งพื้นที่ต้นน้ำและท้ายน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้กระทบเขื่อน แต่ฝ่ายปกครองมองว่า หากไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ควรจะลดการระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

 

 

ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันของ 2 หน่วยงาน จบลงที่ นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยอมลดการระบายจากเขื่อนลำปาว จากเดิมวันละ 30 ล้านลูกบากศ์เมตร เป็นวันละ 25 ล้านลูกบาก์ศเมตร เป็นเวลา 3 วัน โดยเริ่มลดการระบายน้ำในวันที่ 5 ส.ค.พร้อมระบุเขื่อนลำปาวยังมีความแข็งแรง แต่ยังต้องเฝ้าระวัง และหากมีปริมาณไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นก็จะเพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อนทันที

รองอธิบดีกรมชลประทานระบุว่า การบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำปาวยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณมาก ซึ่งแม้จะลดการระบายน้ำลง แต่พื้นที่ท้ายน้ำในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธร จะยังได้รับผลกระทบและมีน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น 30 - 40 เซนติเมตร ก่อนมวลน้ำทั้งหมดจะไหลไปรวมกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง