ผู้ผลิตสารคดีเอเชีย-แปซิฟิกชี้อนาคตยังเต็มไปด้วยโอกาส

ต่างประเทศ
9 ส.ค. 60
08:08
534
Logo Thai PBS
ผู้ผลิตสารคดีเอเชีย-แปซิฟิกชี้อนาคตยังเต็มไปด้วยโอกาส
ผู้ผลิตสารคดีในเอเชีย-แปซิฟิก เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสารคดีในภูมิภาค แม้จะยังคงกังวลเกี่ยวกับข้อจำกัดด้านเงินทุนและการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของนิสัยการรับชมสื่อของคนยุคปัจจุบัน

 

วันนี้ (9 ส.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การผลิตสารคดีในเอเชีย-แปซิฟิกยังคงต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่แตกต่างไปจากการผลิตสื่ออื่นๆ มากนัก นั่นคือการที่ผู้ชมหันไปรับชมสื่อผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เคนอิจิ อิมามูระ Executive Producer NHK Enterprise ของญี่ปุ่น มองว่าผู้ผลิตสารคดีควรที่จะปรับตัวและปรับรูปแบบรายการ เพื่อให้สามารถบุกตลาดสื่อใหม่ให้ได้

อิมามูระ ระบุว่า ในญี่ปุ่น คนรุ่นใหม่ไม่ดูสารคดี เนื่องจากพวกเขาไม่ดูโทรทัศน์ แต่การปรับรูปแบบรายการด้วยการแบ่งเป็นตอนสั้นๆ ประมาณ 10 นาที หรือการจัดทำสารคดีสั้น 5-10 นาที จะช่วยเพิ่มยอดการรับชมรายการได้ นอกจากนี้ การปรับรูปแบบการนำเสนอก็จะช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้ชมรุ่นใหม่ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ขณะที่อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญของการผลิตสารคดีในเอเชีย-แปซิฟิก คงหนีไม่พ้นการจัดหาแหล่งเงินทุนและการนำสารคดีออกฉาย

โนร์ยาตี คาปราวี ผู้ผลิตสารคดีอิสระชาวมาเลเซีย ระบุว่า การเซ็นเซอร์ของภาครัฐเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ผลิตสารคดีอิสระต้องเผชิญ และด้วยข้อจำกัดและระเบียบของแต่ละประเทศทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถนำสารคดีของตนออกฉายในประเทศต่างๆ ได้ และหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกต่างเผชิญกับปัญหาเรื่องงบประมาณในการผลิตสารคดีที่ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับในยุโรป แต่แนวโน้วการรับชมสารคดีของคนยุคปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้น ดังนั้น สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ควรที่จะนำเสนอเนื้อหาสารคดีที่มีประโยชน์

นอกจากนี้ คาปราวี ยังสนับสนุนแนวคิดเรื่อง Co-Production ที่จะให้สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ร่วมมือกับผู้ผลิตสารคดีอิสระเพื่อผลิตผลงาน เนื่องจากผู้ผลิตอิสระมีเวลาในการค้นคว้าและเตรียมการ รวมทั้งมีมุมมองใหม่ๆ ในขณะที่สถานีโทรทัศน์มีช่องทางในการออกอากาศสารคดีที่ผลิตขึ้น ซึ่งถือเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตสารคดีจะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคหลายอย่าง แต่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ผลิตสารคดีจากหลายประเทศต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าการผลิตสารคดีในเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงเต็มไปด้วยโอกาส เนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่ลดลง ประกอบกับสื่อใหม่และเทคโนโลยีได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมเข้าถึงสารคดีได้ง่ายขึ้น ขณะที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มหันมาร่วมกันพัฒนา สนับสนุนและจัดหาแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อการผลิตสารคดีในเอเชีย-แปซิฟิก ให้มีคุณภาพไปสู่ระดับโลกได้ในอนาคต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง