รมว.ยุติธรรม ขอให้ผู้ต้องขังน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้หลังพ้นโทษ

อาชญากรรม
9 ส.ค. 60
11:10
348
Logo Thai PBS
รมว.ยุติธรรม ขอให้ผู้ต้องขังน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้หลังพ้นโทษ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวให้กำลังใจผู้ต้องขังชายที่ใกล้จะพ้นโทษ ขอให้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงปรับใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างพอเพียง

วันนี้ (9 ส.ค.2560) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมผู้ต้องขังภายใต้โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา หลักสูตร "การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของผู้ต้องขัง" สำหรับผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษจำนวน 46 คน ที่เรือนจำชั่วคราวโคกตะบัน สังกัดเรือนจำกลาง จ.สุรินทร์

 

 

นายสุวพันธุ์ กล่าวถึงรับสั่งของพระเจ้าหลานเธอ พัชรกิตติยาภา ทรงประทานกำลังใจและแนวความคิดในการเตรียมความพร้อมของผู้ต้องขังกลับเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมได้ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ต้องขังได้ช่วยกันรักษาและทำให้บ้านกำลังใจเป็นสถานที่การเรียนรู้วิถีพอเพียงอย่างมีความสุข และพร้อมเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านช่วงชีวิตที่ลำบาก โดยโครงการกำลังใจในพระดำริ ผู้ต้องขังได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งปลูกพืชผักทั้งถั่วฝักยาว มะนาว ตะไคร้ ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ และเลี้ยงสัตว์ โดยใช้ชีวิตเหมือนการอยู่บ้าน ผลผลิตที่ได้จะนำมากิน แลกเปลี่ยนกัน เมื่อเหลือค่อยส่งขาย

 

 

หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ยโสธร, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, บุรีรัมย์, นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ ภายใต้โครงการยุติธรรมสู่หมู่บ้าน นำบริการรัฐสู่ประชาชน ครั้งที่ 5/2560 ที่ จ.สุรินทร์

โดยกล่าวเน้นย้ำถึงนโยบายที่มุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับประชาชนทุกคนในสังคมตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น ในรูปแบบ "ยุติธรรมชุมชน" ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการในกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม โดยในปัจจุบัน จ.สุรินทร์ มีการจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 172 ศูนย์

 

 

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานในการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานตอนล่าง พบว่าประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อย อีกทั้งยังขาดความรู้เรื่องกฎหมายพื้นฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และขาดความรู้เกี่ยวกับช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านกฎหมายและการคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพ จึงเร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายสำคัญ เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาปี 2544, พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญาปี พร้อมกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับไม้หวงห้าม เพื่อป้องกันการกระทำผิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันเนื่องจากเหตุไม่รู้กฎหมาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง