นายกสมาคมฯ ชี้ ก.ม. “โดรน” ไม่ชัดเจน-ตรวจสอบคนทำผิดยาก ห่วง คนแห่ปลดล็อกความสูง

สังคม
10 ส.ค. 60
10:19
1,090
Logo Thai PBS
นายกสมาคมฯ ชี้ ก.ม. “โดรน” ไม่ชัดเจน-ตรวจสอบคนทำผิดยาก ห่วง คนแห่ปลดล็อกความสูง
จากกรณีนักบินโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่าพบโดรนสีขาวบินอยู่ที่ความสูงประมาณ 900-1,100 เมตร เทียบเท่าเพดานการบิน โดยห่างจากปีกขวาของเครื่องบินไม่ถึง 20 เมตร ในพื้นที่สนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและอาจก่อให้เกิดอันตราย

วานนี้ (9 ส.ค.2560) นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า ผู้ปล่อยโดรนดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย หรือไม่ทราบข้อปฏิบัติที่ถูกต้องจนอาจเกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินหรือบุคคลอื่น ซึ่งโดรนถูกปลดล็อกการจำกัดระดับการบินอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากโรงงานผลิตจะตั้งระบบ Fly Zone ป้องกันการบินสูงเกินระดับที่กำหนดและไม่สามารถบินเข้าเขตหวงห้าม เช่น สถานที่ราชการ สนามบิน สำหรับโดรนทั่วไปจะจำกัดระดับการบินสูงสุด อยู่ที่ 500 เมตร ต่อมาได้มีการเขียนโปรแกรมเพื่อปลดล็อกให้โดรนสามารถบินสูงกว่ามาตรฐาน

 

ขณะที่ไทยนำเข้าโดรนและเป็นที่นิยมในฐานะ “ของเล่น” ผู้ใช้งานทั่วไปจึงอาจไม่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎข้อบังคับที่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีการเปิดธุรกิจรับปลดล็อกโดรนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ โดรนที่ขายในท้องตลาดส่วนใหญ่มักเป็นของต่างประเทศ แต่ผู้เล่นคนไทยที่มีความรู้ความสามารถด้านไฟฟ้าหรือเครื่องกล ได้เริ่มศึกษาและสร้างโดรนใช้เอง เรียกว่า ไทยประดิษฐ์ เป็นโดรนที่สร้างขึ้นจากการซื้อซอร์ฟแวร์หรือเมนบอร์ดจากต่างประเทศ แล้วพัฒนาต่อยอดเพื่อให้มีศักยภาพมากขึ้น

"ยิ่งบินได้สูงมาก ความสนุกก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ผู้เล่นโดรนที่ฮิตปลดล็อกระดับความสูง ถือเป็นความสนุกและซุกซนโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ผมคิดค้นและพัฒนาโดรนจนสามารถบินได้สูงสุด 2 กิโลเมตร แต่นำมาใช้ทำงานหรือวิจัยในบริเวณพื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ย่อมทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากนำไปใช้ในทางที่ผิด สร้างโดรนที่ไม่มีการจำกัดความสูงและระยะทางแนวระนาบใดๆ ก็ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นได้เช่นกัน" นายพิศิษฐ์ ระบุ

 

นายกสมาคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าในต่างประเทศจะมีการขึ้นทะเบียนการใช้โดรนอย่างชัดเจนและสามารถตรวจสอบประวัติการบินของแต่ละเครื่องได้ ทำให้ควบคุมได้ง่าย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าแม้ไทยจะมีประกาศกระทรวงคมนาคมว่าด้วยการขึ้นทะเบียนโดรน แต่กระบวนการและข้อบังคับในการใช้งานโดรนยังไม่ชัดเจนเข้าถึงยาก อีกทั้งมีผู้ขึ้นทะเบียนจำนวนไม่มาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทั้งค่าเครื่องโดรนและค่าประกันภัย

ส่วนกรณีมีผู้ใช้งานผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะทำได้เพียงตรวจสอบหมายเลขประจำตัวเครื่อง บางกรณีหาผู้กระทำผิดตัวจริงไม่ได้ เนื่องจากเป็นหมายเลขที่ลงทะเบียนโดยผู้ซื้อรายแรก หรือบริษัทที่นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมแนะนำให้มีการจดทะเบียนใบอนุญาตใช้โดรนในลักษณะเดียวกันกับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

“ถ้าเรามีการจดทะเบียนใบอนุญาตใช้โดรน เหมือนกับการทำใบขับขี่ปัญหาก็อาจจะลดลงได้ เมื่อมีคนทำผิดกฎ ตรวจสอบใบอนุญาต เมื่อพบว่าไม่มีใบอนุญาตหรือมีใบอนุญาตแต่กระทำความผิดก็จับก็ปรับเหมือนทำผิดกฎหมาย” นายพิศิษฐ์กล่าว

 

ล่าสุดนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นคาดว่า จุดที่ปล่อยโดรนน่าจะอยู่ในบริเวณศูนย์เยาวชนเฉลิมพระเกียรติ เทศบาลนครนนทบุรี ถนนสามัคคี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี หรือบริเวณใกล้เคียง ระยะห่างจากท่าอากาศยานดอนเมืองประมาณ 7.6 กิโลเมตร ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะเร่งดำเนินการสืบหาผู้กระทำความผิดและดำเนินการลงโทษตามกฎหมายต่อไป

อินโฟกราฟิก : "โดรน" ใช้อย่างไรให้ถูกต้องปลอดภัย

ผานิต ฆาตนาค ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง