“เลี้ยงลูกเชิงบวก” เทรนด์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ยุคใหม่

สังคม
11 ส.ค. 60
21:14
10,106
Logo Thai PBS
“เลี้ยงลูกเชิงบวก” เทรนด์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ยุคใหม่
การเลี้ยงลูกเชิงบวก เป็นแนวทางการเลี้ยงลูกที่เหล่าบรรดาแม่ๆ ยุคใหม่ให้ความสนใจและอยากนำมาปรับใช้กับการเลี้ยงลูกของตัวเอง หลายคนเลือกศึกษาผ่านการอ่านหนังสือ และจำนวนไม่น้อยที่เลือกศึกษาจากเพจแนะนำการเลี้ยงลูกในเฟซบุ๊ก

วันนี้ (13 ส.ค.2560) พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน และเจ้าของหนังสือเลี้ยงบวก ลูกบวก เป็นแหล่งความรู้หนึ่งที่บรรดาแม่ทั้งหลาย เลือกศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก ระบุว่า การเลี้ยงลูกเชิงบวกคือ วิธีการเลี้ยงลูกที่เข้าใจการทำงานของสมองทางวิทยาศาสตร์ โดยเน้นการเลี้ยงลูกด้วยความรัก เข้าใจความแตกต่างหลากหลายของเด็กแต่ละคน ใช้ระเบียบวินัยเป็นเครื่องมือ และไม่ใช้ความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ หลักการเลี้ยงลูกเชิงบวกจะใช้วิธีการสอน หรือ โค้ช เพื่อให้เด็กเห็นผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น และใช้เทคนิคต่างๆ กระตุ้นให้สมองส่วนคิดวิเคราะห์ทำงานได้ดีขึ้น

พญ.จิราภรณ์ เปิดเผยว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เติบโตมากับวัฒนธรรมเชิงอำนาจและวัฒนธรรมเชิงลบ พ่อแม่จะมีอำนาจเหนือลูก ครูมีอำนาจเหนือลูกศิษย์ จึงใช้วิธีการบังคับ ขู่ ทำให้กลัว และตีให้ราบจำ ซึ่งแตกต่างจาการเลี้ยงลูกเชิงบวก ที่เราจะไม่ทำร้ายตัวตนของเด็ก ไม่สร้างบาดแผลในการเติบโต ให้คำชม ให้กำลังใจ สอนให้ลูกรู้ผลลัพธ์ตามธรรมชาติ และฝึกวินัยอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ

เลี้ยงลูกเชิงบวก คือการกระตุ้นสมองส่วนคิดวิเคราะห์ทำงาน

สมองของมนุษย์มี 3 ส่วน คือ สมองส่วนบน หรือสมองส่วนคิด สมองส่วนกลาง หรือสมองส่วนอารมณ์ และสมองส่วนล่าง หรือสมองส่วนสัณชาตญาณ

พญ.จิราภรณ์ ให้ข้อมูลว่า สมองส่วนสัณชาตญาณมีการพัฒนาที่ดีตั้งแต่แรกเกิด และมักจะทำงานร่วมกันกับสมองส่วนอารมณ์ เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เอาตัวรอดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อไหร่ที่อยู่ในภาวะไม่ปลอดภัยหรือเครียด สมองส่วนสัญชาตญาณจะตอบสนองทันที คือ สู้ หนี ยอม ซึ่งในครอบครัวที่พ่อแม่ใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดู การตอบสนองทั้ง 3 แบบ มักจะส่งผลลบกับการพัฒนาตัวตนของเด็ก

“สู้” เมื่อโตขึ้นจะพัฒนาเป็นเด็กก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา

“หนี” จะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่วิตกกังวลง่ายและซึมเศร้า

“ยอม” การยอมของเด็กจะส่งผลให้เด็กไม่นับถือตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีศักยภาพ ไม่มีความสามารถ

สมองส่วนคิดวิเคราะห์ เป็นสมองส่วนที่พัฒนาช้าที่สุด โดยจะพัฒนาเต็มที่ประมาณอายุ 25 ปี ด้วยเหตุนี้เมื่อเวลาเด็กร้องไห้โวยวายไม่รู้เหตุผล เด็กไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของสมองส่วนสัณชาตญาณ และเป็นข้อจำกัดตามธรรมชาติที่เด็กมี การเลี้ยงลูกเชิงบวกคือ การทำให้สมองส่วนอารมณ์สงบ เพื่อให้เด็กฝึกใช้สมองส่วนคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น

ช่วยลูกเรียนรู้อารมณ์ตัวเอง เข้าใจอารมณ์ และจัดการอารมณ์เป็น

ครอบครัวที่จะนำหลักการเลี้ยงลูกเชิงบวกมาใช้ ต้องเข้าใจอารมณ์และจัดการอารมณ์ของตนเองเสียก่อน เพื่อไม่ให้มีอารมณ์รุนแรง และกระตุ้นให้สมองส่วนวิเคราะห์ทำงาน

“ตลอด 4 ปี หมอไม่เคยตีลูกเลย และแน่ใจว่าในอนาคตก็ไม่ต้องตีลูก เพราะมันมีวิธีที่ดีกว่า ไม่เห็นต้องตีเลยสักครั้ง ทุกครั้งที่จะตีลูก หมอบอกได้เลยว่าเกิดจากพ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ถ้าควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี จะพบว่าเด็กไม่ต้องตี หลายคนที่ตีลูก ลูกก็ยิ่งก้าวร้าว ต่อต้าน”

พญ.จิราภรณ์ ยกตัวอย่างการควบคุมอารมณ์ของลูก ที่พ่อแม่เชิงบวกต้องใช้ เมื่อพบว่าลูกโกรธหรือโมโห ให้สะท้อนความรู้สึกลูกทันที โดยกล่าวว่า “หนูคงกำลังโกรธ แม่เข้าใจเลยที่หนูรู้สึกโกรธ เรามาเป่าไล่ตัวโกรธกันก่อน หายใจลึกๆ ฮึบ แล้วเป่าออกดังฟู่” วิธีการนี้จะสอนให้เด็กรู้จักอารมณ์และวิธีจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น พ่อแม่ไม่ควรจัดการอารมณ์ของลูกด้วยการออกคำสั่ง และไม่ควรใช้วิธีเดิมๆ ซึ่งเป็นวิธีเชิงลบว่า “แม่บอกแล้วใช่ไหมว่าอย่าทำแบบนี้ อย่ามาโมโหนะ” เพราะจะยิ่งทำให้อารมณ์เด็กพลุ่งพล่าน เพราะสมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้น

พ่อแม่ต้องเลิกใช้คำพูดเชิงลบ

พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า คนไทยอยู่กับวัฒนธรรมเชิงลบมาอย่างยาวนาน จึงทำให้ซึมซับอยู่ในสัญชาตญาณ หลายครั้งก็แสดงออกโดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของคนรับสาร เช่นกรณีต้องการให้ลูกเก็บรองเท้าเข้าที่ พ่อแม่มักจะพูดว่า “ถอดรองเท้าแล้วเก็บเข้าที่ด้วยสิ” คำพูดแบบนี้เมื่อลูกได้ยินก็จะหน้างอ เพราะรู้สึกไม่อยากทำ ซึ่งพ่อแม่สามารถเปลี่ยนเป็นการเตือนลูกได้ว่า “ลูก รองเท้าลูก” เด็กก็เข้าใจแล้วว่ารองเท้าต้องเก็บเข้าที่

เลี้ยงลูกเชิงบวก ลูกยิ่งเล็ก ยิ่งได้ผลดี –ใช้ได้ทั้งครอบครัว 

นางชฎาพร รัตนาวิวัฒน์พงศ์ หรือแม่ดาว แม่ที่นำหลักการเลี้ยงลูกเชิงบวกมาปรับใช้ในการเลี้ยงลูก แม่ดาวเล่าว่า เริ่มใช้วิธีการนี้ตอนลูกชายอายุ 3 ขวบ ในขณะนั้นรู้สึกว่าทำไมลูกชายเอาแต่ใจตัวเอง ชอบร้องอาละวาด และพูดไม่ฟัง จึงลองนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้ พบว่าวิธีการนี้จะประสบความสำเร็จ พ่อแม่เปลี่ยนตัวเองก่อน โดยการเข้าใจอารมณ์และจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ได้ ซึ่งเมื่อแม่ดาวทำได้แล้วจึงเข้าใจว่า ที่ลูกร้องโวยวายเพราะลูกยังเล็ก ไม่สามารถสื่อสารออกมาด้วยคำพูดได้ จึงสื่อสารด้วยการร้องไห้

ปัจจุบันนี้ลูกชายของแม่ดาวอายุ 10 ปีแล้ว ผลจากความพยายามใช้วิธีเชิงบวกพบว่าลูกเป็นคนมีเหตุผล เชื่อฟังคำสอนและคำแนะนำ เมื่อมีอารมณ์ก็สามารถจัดการได้ รวมทั้งคนในครอบครัวก็มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เพราะไม่มีความรู้สึกเชิงลบในการใช้ชีวิตร่วมกัน

แม่ดาว ยอมรับรับว่าวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกค่อนข้างยาก แต่เป็นเรื่องยากที่สามารถเป็นจริงได้ ซึ่งแม่ๆ ที่สนใจการเลี้ยงลูกแบบนี้ควรมีที่ปรึกษา ซึ่งเพจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอเด็กหรือคุณแม่ที่มีประสบการณ์ จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้การเลี้ยงลูกเชิงบวกประสบความสำเร็จ

พญ.จิราภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การเลี้ยงลูกไม่มีถูก ไม่มีผิด ไม่ต้องเป๊ะตามตำรา การเลี้ยงลูกเชิงบวกไม่เครียด ทำแล้วจะสบายใจ แต่ถ้าหากเครียดก็แค่กลับไปศึกษาใหม่ให้มากขึ้น

 

จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง