ความรุนแรงในครอบครัว ทำให้ฉันกลายเป็น “แม่เลี้ยงเดี่ยว”

สังคม
11 ส.ค. 60
21:20
7,743
Logo Thai PBS
ความรุนแรงในครอบครัว ทำให้ฉันกลายเป็น “แม่เลี้ยงเดี่ยว”
ภาพเหตุการณ์ที่ลูกชายพิการทางสมองในวัย 1 ขวบ 9 เดือน ถูกสามีหรือพ่อที่ให้กำเนิดทำร้ายร่างกายหลายครั้ง ยังวนเวียนอยู่ในความทรงจำของ “แก้ว” คุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 33 ปี ยิ่งถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ภาพและเสียงร้องไห้ของลูกก็ยิ่งดังและชัดเจนขึ้น

แก้วทำหน้าที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาเกือบ 4 เดือน เพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูกชายพิการทางสมอง เธอตัดสินใจหย่าและดำเนินคดีกับสามีทันที หลังพบหลักฐานว่าสามีแอบทำร้ายร่างกายลูกชายมาตลอด 1 ปี

การต่อสู้ของแม่แก้วเพื่อปกป้องและดูแลลูกชายของเธอเป็นหนึ่งในเรื่องราวของแม่ผู้เข้มแข็งที่น่าจะเป็นบทเรียนและสร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนได้ในวันแม่ปีนี้

แก้วและน้องวิน ลูกชายพิการทางสมอง ย้ายมาอยู่กับครอบครัวของพี่สาวตั้งแต่วันที่พบหลักฐานว่าสามีเป็นคนทำร้ายร่างกายลูกชายด้วยความรุนแรง แก้วเล่าว่า ช่วงแรกๆ มีความรู้สึกไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากนอนกับลูก ไม่อยากเจอลูก เพราะรู้สึกผิด และเครียดจนนอนไม่หลับ

รู้สึกละอายใจ รู้สึกผิดกับลูกมาก ทุกคืนจะกอดลูกแล้วบอกว่าแม่ขอโทษ แม่ขอโทษ ที่ทำให้ลูกเจ็บตัว ขอโทษที่แม่ดูแลได้ไม่ดี ต่อไปมีแค่เราแล้ว เราต้องสู้นะลูก

 

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 แก้วเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรคูคต จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ดำเนินคดีกับสามี หลังพบหลักฐานจากกล้องหน้ารถว่าเป็นคนทำร้ายน้องวิน จนปากแตก จมูกบวม และมีรอยแดงบริเวณแก้ม ขณะจอดรถรอแก้วซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งคลิปจากกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ที่พบสามีทุ่มลูกลงบนฟูกอย่างรุนแรง และหลายครั้งมักจะเอาช้อนทิ่มปากลูกด้วยความหงุดหงิดขณะป้อนข้าว

ศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับนายสรวุฒิ ลันขุนทด สามีของแก้ว ตามหมายจับของศาสจังหวัดธัญบุรี ที่ 272/2560 ลงวันที่ 26 เมษายน 2560 ในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งตำรวจสามารถรวบตัวนายสรวุฒิได้ทันทีที่บ้านเกิดในจังหวัดสิงห์บุรี

ทุกวันนี้แก้วและน้องวิน มีสุขภาพจิตดีขึ้น เพราะได้รับการเยียวยาจากครอบครัวของเธอ ทั้งการให้กำลังใจและช่วยเลี้ยงลูกชายพิการทางสมองด้วยความรัก ซึ่งทำให้น้องวินมีพัฒนาการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สามารถคว่ำและชันคอได้ อารมณ์ดี พยายามส่งเสียงพูดคุยและเล่นมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากช่วงที่อยู่กับพ่อที่ลูกทำไม่ได้ และส่วนใหญ่มักจะมีอาการซึม ไม่ร่าเริง

ความรักของครอบครัวทำให้แก้วเข้มแข็งและสามารถเดินต่อได้ในเวลาเพียง 3 เดือน เป้าหมายสูงสุดหลังจากนี้คือการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ดีและสามารถดูแลลูกอย่างไม่บกพร่อง

แก้วหย่ากับสามีแล้ว หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ให้เขาจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่รอลงอาญา ข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

ตอนเห็นคลิปที่เขาทำร้ายลูก ความรู้สึกมันตัดเลย จะรักเขามากขนาดไหน แต่มาทำร้ายลูกมันไม่ได้ จะเอาเข้าคุกให้ได้ มันเหมือนเขาเป็นคนอื่นไปเลยแม้จะรักเขามาก เขาขอโทษแทบตายยังไงก็ไม่ยอม ยังไงก็ต้องจบ แล้วคุณก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คุณทำ

แก้วเล่าว่า สามีพยายามติดต่อกลับมาคืนดีหลายครั้ง แต่แก้วเลือกที่จะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้ว จึงไม่สามารถให้โอกาสนั้นกับเขาได้ และยังเร็วเกินไปที่จะให้โอกาสเขาเจอลูก

เขาขอโทษที่ทำให้ชีวิตพัง เลยพูดกลับไปว่าขอโทษลูกดีกว่าไหม เพราะลูกเป็นคนโดนกระทำ ฉันไม่ได้เจ็บ ไม่ ได้ปวดอะไร แค่ชีวิตมันต้องเดินต่อไปแบบยากขึ้นแค่นั้น สิ่งที่ต้องสำนึกและขอโทษคือลูก

 

แก้วไม่กังวลที่จะเป็นเสาหลักให้กับลูก เพราะที่ผ่านมาเธอก็เป็นเสาหลักในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวของเธออยู่แล้ว เธอทำงานเป็นพนักงานธนาคาร ข้อตกลงร่วมกันกับสามีหลังพบว่าลูกชายพิการทางสมองจากอุบัติเหตุหลังคลอด คือสามีจะเป็นคนเลี้ยงลูก ส่วนเธอจะทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

น้องวิน วัย 2 ขวบ เป็นเด็กเลี้ยงง่าย กลางวันจะอยู่ในความดูแลของคุณยาย ขณะที่กลางคืนแก้วจะเป็นคนดูแลเอง การดูแลเด็กพิการทางสมอง แก้วบอกว่า นอกจากจะให้ความรักและการดูแลพื้นฐานแล้ว เด็กกลุ่มนี้ต้องกินยาและทำกายภาพอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความบกพร่องทางด้านการเคลื่อนไหว แก้วต้องนวดกดจุดกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ลูกวันละ 3 ครั้ง ก่อนไปทำงานและหลังกลับจากทำงาน

ก่อนหน้านี้การนวดกดจุดกระตุ้นกล้ามเนื้อให้น้องวินเป็นหน้าที่หลักของสามี เพราะครูฝึกกายภาพประเมินแล้วว่าสามีทำได้ดีกว่า เนื่องจากมีแขนยาวซึ่งได้เปรียบในการจัดท่าให้กับลูก ขณะนี้แก้วอยู่ระหว่างการฝึกฝนกับครูฝึกกายภาพ เพื่อให้สามารถทำได้อย่างถูกต้อง

นอกจากการนวดกระตุ้นในทุกวันแล้ว แต่ละเดือนน้องวินต้องทำกายภาพที่โรงพยาบาลเด็กอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งต้องติดตามพัฒนาการด้านสมองและสายตา ตามที่แพทย์นัดหมายทุกๆ 1 – 3 เดือน

 

บทบาทแม่เลี้ยงเดี่ยวของแก้ว คงต้องใช้เวลาปรับตัว หลายเรื่องที่ไม่เคยทำก็ต้องฝึกฝนและทำให้ได้ ตอนนี้แก้วสามารถขับรถพาลูกไปหาหมอได้แล้ว และหลายครั้งเมื่อมีปัญหาแก้วก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยกำลังใจสำคัญที่ทำให้ผ่านพ้นทุกอย่างได้ คือลูกชายพิการทางสมองของเธอ ที่คอยมอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้เธอเสมอ

แก้วบอกว่า วันแม่ปีนี้ต่างจากปีที่แล้วที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีสองครอบครัวที่ต้องให้ความรักและความใส่ใจดูแล แต่ปีนี้เหลือเพียงครอบครัวเดียวคือครอบครัวของเธอ ซึ่งมีแม่ พี่สาว และลูกชาย จากนี้ความรักทั้งหมดจะหยุดอยู่ตรงนี้ พร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะพยายามให้ลูกชายพิการทางสมองมีพัฒนาการและสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กทั่วไปอย่างมีความสุข

แม่จะพยายามทำทุกอย่าง ทุกวิถีทางที่ให้ลูกเดินได้ จะให้ลูกอยู่อย่างมีความสุขมากที่สุด ปลอดภัยที่สุด อารมณ์ดีที่สุด และจะเป็นแม่ที่ดีเท่าที่จะทำได้

 

จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แม่ใจสลาย พ่อทำร้ายร่างกายลูกพิการ วอนเร่งหาตัวดำเนินคดี 

จับแล้ว “พ่อทำร้ายลูกพิการทางสมอง” สารภาพเครียด-โมโห-รู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง