มธ.เปิดตัว "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ" ชงรัฐต่อยอดใช้งาน

Logo Thai PBS
มธ.เปิดตัว "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ" ชงรัฐต่อยอดใช้งาน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวนวัตกรรม "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ" เก็บภาพสถานที่สำคัญเพื่อใช้เป็นข้อมูลฟื้นฟูและซ่อมแซมกรณีเกิดภัยพิบัติ พร้อมเสนอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณและต่อยอดการใช้งานจริง

รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากปัญหาภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและสถานที่สำคัญ มธ.ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม "โดรนตรวจสอบความเสียหายโบราณสถาน 3 มิติ" ใช้เวลา 1 ปี ขณะนี้รอการสนับสนุนจากภาครัฐในการผลักดันให้เกิดการต่อยอดและนำไปใช้งานจริง

ขณะที่ ดร.พงศกรณ์ วิจิตเวชไพศาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ภัยพิบัติต่างๆ สร้างความเสียหายแก่สถานที่สำคัญและโบราณสถาน จึงต้องมีการเฝ้าระวังถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ยกตัวอย่างพื้นที่บริเวณพระธาตุนารายณ์เจงเวง จ.สกลนคร ที่ฐานรากเป็นดิน เมื่อถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อาจเกิดการทรุดตัว หรือบริเวณผนังของบ้านเรือนที่ทำจากไม้ อาจเกิดการบวมของไม้ได้ ซึ่งแนวทางฟื้นฟูโบราณสถานและเมืองเก่ามี 3 ข้อ คือ 1.รักษาความแท้ของโครงสร้างและรายละเอียดโบราณสถาน 2.คงเอกลักษณ์ทั้งมิติทางกายภาพและวัฒนธรรม 3.ความกลมกลืน ปรับสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เพื่อส่งเสริมให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมยังคงคุณค่าอย่างยั่งยืน

ดร.พงศกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การถ่ายภาพโบราณสถานหรือสถานที่สำคัญ จะต้องไปถ่ายภาพก่อนเกิดภัยพิบัติ ซึ่งหลังจากนี้จะค่อยๆ ถ่ายภาพเก็บไว้ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ซ่อมแซม หรือฟี้นฟูกรณีเกิดภัยพิบัติในอนาคต รวมทั้งการถ่ายภาพหลังน้ำลดเพื่อเปรียบเทียบความเสียหาย ส่วนการเก็บภาพโบราณสถาน 3 มิติ ขณะนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลในพื้นที่กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง มธ. ยังไม่มีแผนลงพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือและภาคตะวันเฉียงเหนือ พร้อมระบุว่า กฎการบินโดรนในไทยยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการใช้งานและทดลองนวัตกรรม เช่น ห้ามบินในระยะใกล้เคียงอาคาร 30 เมตร ซึ่งต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าไปเก็บข้อมูลสถานที่สำคัญ

"โดรนจะเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพมุมสูง อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายน้อย ผมอยากถ่ายเก็บมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพราะไทยมีสถานที่สำคัญเยอะมาก เราควรจะเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ถึงคุณค่าและการอนุรักษ์ ขณะที่ต่างประเทศจะมีภาครัฐ หรือเอกชนสนับสนุนงบประมาณ" ดร.พงศกรณ์ ระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง