"ผู้หญิงนักสิทธิ" เป้าโจมตีจากแรงผลักดันที่เจ็บปวด

สังคม
17 ส.ค. 60
16:40
3,512
Logo Thai PBS
"ผู้หญิงนักสิทธิ" เป้าโจมตีจากแรงผลักดันที่เจ็บปวด
บทบาทของผู้หญิงไม่ได้ถูกจำกัดแค่ความเป็นแม่เป็นภรรยา เมื่อชีวิต สวัสดิภาพ และปากท้องของคนในครอบครัวถูกคุกคามจึงต้องลุกขึ้นสู้ในแถวหน้า กลับตกเป็นเป้าข่มขู่เรื่องเพศและความปลอดภัยของลูก-สามี โดยเอกชนคู่กรณี หรือแม้กระทั่งจากผู้ที่ควรเยียวยาช่วยเหลืออย่างเจ้าหน้าที่รัฐ

นักสิทธิมนุษยชนหญิงโดยเฉพาะผู้รณรงค์ในประเด็นสิทธิในที่ดินทำกิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนในชนบท สิทธิด้านเพศ และหญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องตกเป็นเป้าหมายในการคุกคาม ข่มขู่ และใช้ความรุนแรงมากเนื่องจากประเด็นการทำงานของพวกเธอ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล เผยว่า ตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบันมีผู้หญิงอย่างน้อย 119 คนถูกฟ้องร้องขับไล่จากการต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน

นักสิทธิเพศหญิง ถูกข่มขู่เรื่องเพศ-ความปลอดภัยของลูก

นักสิทธิมนุษยชนในไทยมักถูกคุกคาม แต่ความแตกต่างระหว่างนักสิทธิมนุษยชนเพศชายและเพศหญิงคือ ผู้หญิงมักจะถูกนำบทบาทความเป็นแม่หรือความเป็นหญิงมาใช้ในการคุกคาม ข่มขู่ หรือเลือกปฎิบัติ อย่างกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ที่ชาวบ้านนาหนองบงถูกชายฉกรรจ์หลายคนใช้กำลังปิดล้อมกลางดึก ชาวบ้านทั้งชายหญิงถูกมัดมือมัดเท้า ผู้ชายถูกทำร้ายร่างกาย ผู้หญิงถูกข่มขู่ข่มขืน หรือกรณีของผู้หญิงที่เคลื่อนไหวเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ถูกโทรศัพท์ข่มขู่เกี่ยวกับสวัสดิภาพความปลอดภัยของลูก

กลุ่มชายฉกรรจ์ปิดล้อมและทำร้ายชาวบ้านค้านเหมืองแร่ จ.เลย

กลุ่มชายฉกรรจ์ปิดล้อมและทำร้ายชาวบ้านค้านเหมืองแร่ จ.เลย

กลุ่มชายฉกรรจ์ปิดล้อมและทำร้ายชาวบ้านค้านเหมืองแร่ จ.เลย

ผู้หญิงที่เคลื่อนไหวเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินคนหนึ่งเปิดเผยว่า เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวไปปรับทัศนคติ และข่มขู่ว่ามาทำแบบนี้อาจถูกทำให้หายได้ ซึ่งเป็นการข่มขู่ซึ่งหน้าโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย แตกต่างกับการขู่ผู้ชายที่ฝากเตือนกับคนอื่นมา

เมื่อรวมถึงคำพูดลักษณะ “ทำแบบนี้จะหาสามีไม่ได้” “เป็นผู้หญิงอยู่เฉยๆ ดีกว่า” ทั้งจากคนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ สะท้อนว่าสังคมยังไม่มีการยอมรับให้ผู้หญิงเป็นผู้นำประเด็นสาธารณะหรือเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้ ถูกผลักให้อยู่แต่ใน “พื้นที่” ของตนเอง ยิ่งทำให้นักสิทธิมนุษยชนหญิงทำงานลำบากมากขึ้น

“สามีถูกอุ้มหาย” ความอยุติธรรมผลักดันให้ต้องสู้

นอกจากนี้ แรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เป็นแม่และเป็นภรรยาออกมาเคลื่อนไหวนั่นคือครอบครัว นักสิทธิมนุษยชนหญิงบางคนสามีถูกอุ้มหายเพราะสามีต่อสู้เรื่องสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน หายตัวไปตั้งแต่ปี 2547, กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก หายตัวไปตั้งแต่ปี 2547, มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 หลังสามีหายตัวไปผู้หญิงเหล่านี้พยายามต่อสู้ขอความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงพูดถึงสิทธิของสามีที่หายไปเท่านั้นแต่ขยายประเด็นสู่การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดคนอื่นๆ

มึนอ  ภรรยาของบิลลี่ นักเคลื่อนไหวที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557

มึนอ ภรรยาของบิลลี่ นักเคลื่อนไหวที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557

มึนอ ภรรยาของบิลลี่ นักเคลื่อนไหวที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557

หลายครั้งที่ประเด็นต่อสู้สืบเนื่องมาจากปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน ซึ่งในแง่บทบาทที่ต้องดูแลปากท้องความเป็นอยู่และใกล้ชิดกับคนในบ้านที่สุด เมื่อมีภัยมาเคาะประตูถึงหน้าบ้านจึงทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แม้บางครอบครัวสามีภรรยาต่อสู้ร่วมกัน แต่บางครอบครัวสามีทำงานต่างถิ่น รับหน้าที่ทำงานหาเงิน หรือความคิดเห็นไม่ตรงกัน จึงไม่ได้มีบทบาทร่วมกับภรรยา

“ชุมชนเราต่อสู้เรื่องเหมืองแร่มาเป็นสิบปีจนเราถูกฟ้องร้องไม่ว่าจะเป็นนายทุนที่มาลงทุนหรือหน่วยงานรัฐ เกือบ 20 คดี คิดเป็นเงินเกือบพันล้านบาท ซึ่งในชุมชนเราก็มีผู้หญิงเป็นส่วนมากที่ลุกขึ้นมาสู้ ส่วนมากเลยเป็นผู้หญิงที่โดนคดี” นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด กล่าว

รัฐยืนยัน “ไม่เคย” คุกคามนักสิทธิ

32 ปีที่รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women (CEDAW) แต่สถานการณ์สิทธิมนุษยนชนของผู้หญิงยังน่ากังขา

น.ส.ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล เปิดเผยว่า หลังไทยส่งรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวไปยังคณะกรรมการ CEDAW เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็มีผู้หญิงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจเป็นจำนวนมาก เช่นแม่สุภาพ คำแหล้ ที่สามีหายไปอย่างไร้ร่องรอย ถูกสั่งจำคุก 6 เดือนในคดีรุกป่าสงวน แม้จะมีข้อตกลงกับรัฐบาลชัดเจนว่าสามารถอยู่และทำกินบนที่ดินผืนนั้นได้

นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด

นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด

นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด

“ยิ่งไปกว่านั้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมามีผู้หญิงมากกว่า 7 ชุมชนโดยทั้งหมดแทบจะไม่เข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพราะมีความยุ่งยากซับซ้อน ถึงแม้บางกรณีเข้าถึงก็ต้องผ่านการอุทธรณ์แล้วอุทธรณ์อีก นี่เป็นเพียงแค่ภาพบางส่วนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีผู้หญิงในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม  และเมื่อใดก็ตามที่สังคมใดไม่มีความเป็นธรรมให้กับผู้หญิงก็เท่ากับว่าสังคมนั้นไม่มีความเป็นธรรม” น.ส.ปรานม กล่าว

ขณะที่คณะกรรมการ CEDAW ตั้งคำถามถึงสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในมิติต่างๆ แต่รัฐไทยยืนยันว่า "ประเทศไทยไม่มีนโยบายในการโจมตีหรือทำร้ายนักปกป้องสิทธิ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับทนายความหญิงและนักปกป้องสิทธิหญิงที่จะให้ทำงานได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง