วิเคราะห์ 5 แนวทางคำพิพากษาคดีรับจำนำข้าว

การเมือง
20 ส.ค. 60
15:33
25,417
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ 5 แนวทางคำพิพากษาคดีรับจำนำข้าว

25 ส.ค.นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดคู่ความในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลย และคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพวกเป็นจำเลย เข้าฟังคำพิพากษาพร้อมกันในเวลา 09.00 น.

สำหรับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น นักสังเกตการณ์ทางการเมืองเห็นตรงกันว่าคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองเพราะนอกจากการชี้อนาคตทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ผลแห่งคดียังหมายถึงก้าวต่อไปทางการเมืองของคนในตระกูล "ชินวัตร" และพรรคเพื่อไทย และคำพิพากษาจะกลายเป็นบรรทัดฐาน "ความรับผิดชอบของหัวหน้ารัฐบาล" ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท

นอกจากคดีในอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังต้องต่อสู้คำสั่งทางปกครองหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากความผิดฐานไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และตัดสิทธิ์ห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง 5 ปี หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจึงออกหนังสือคำสั่งเรียกคืนความเสียหายจากอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ รวม 35,000 ล้านบาท ซึ่งการเรียกคืนความเสียหายนี้อยู่ในขั้นตอนที่กรมบังคับคดีกำลังเดินหน้ายึดทรัพย์ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ฟ้องศาลปกครอง เพื่อทุเลาคำสั่งของกระทรวงการคลัง ศาลปกครองอยู่ระหว่างการพิจารณา

ทีมข่าวการเมืองไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์ความเห็นของนักวิเคราะห์การเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายถึงแนวทางคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 5 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 "มีความผิดทุกกรณีและต้องได้รับโทษทางอาญา" คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว

แนวทางที่ 2 "มีความผิดทุกกรณี ต้องได้รับโทษ แต่ให้รอลงอาญา" เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เคยทำคุณงามความดี ผู้ที่ก่อประโยชน์ให้กับประเทศชาติบ้านเมืองมาก่อน

แนวทางที่ 3 "มีความผิด ต้องรับโทษทางอาญา แต่ไม่ต้องชดใช้ความเสียหาย"

แนวทางที่ 4 "ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษทางอาญา แต่ต้องชดใช้ความเสียหาย" คือ พฤติการณ์ไม่เข้าข่ายกระทำความผิด ไม่มีเจตนาปล่อยปละละเลยและไม่ต้องรับโทษตามคำฟ้อง หากแต่ยังคงต้องชดใช้ความเสียหายแก่รัฐตามคดีทางปกครอง

แนวทางที่ 5 "ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษทางอาญา ส่วนจะต้องชดใช้ความเสียหายแก่รัฐหรือไม่ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เห็นว่าการอธิบายเหตุและผลของคดีให้ประชาชนเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความขัดแย้งของสถานการณ์การเมืองหลังคำพิพากษาได้

รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นบวกหรือเป็นลบ ย่อมต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นหลังศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์และพวกในคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ

"คดีเหล่านี้มีความเป็นการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย แม้ศาลจะยึดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นหลักในการพิจารณาก็ตาม แต่ในทางสังคม พอมีความเป็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การตั้งคำถาม ความพอใจ ความไม่พอใจ ทัศนคติ มุมมองต่อคดีที่แตกต่างกันไปย่อมมีแน่นอน" รศ.ยุทธพรกล่าว

ข้อมูลด้านการข่าวของ คสช. สรุปตัวเลขมวลชนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่หน้าศาลฎีกา ในวันที่ 25 สิงหาคมอยู่ในหลักพันต้นๆ แต่ฝ่ายความมั่นคงได้จัดเตรียมกำลังตำรวจไว้รับมือสถานการณ์เกือบ 3,000 นาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง