นิทรรศการ "มังงะ โฮะคุไซ มังงะ" ฉลองครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น

Logo Thai PBS
นิทรรศการ "มังงะ โฮะคุไซ มังงะ" ฉลองครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น
หนึ่งในศิลปินสำคัญของการ์ตูนญี่ปุ่นที่บุกเบิกทั้งวิธีการเล่าเรื่อง และรวมเล่ม คือ โฮะคุไซ จิตรกรหัวสมัยใหม่แห่งยุคเอโดะ ล่าสุด นิทรรศการสัญจรบันทึกเรื่องเล่าพร้อมผลงาน นำมาจัดแสดงในไทยเป็นครั้งแรก เพื่อฉลองครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น

แค่เปลี่ยนทิศทางของลายเส้น ทำให้ใบหน้าตัวละครตัวเดิมถ่ายทอดอารมณ์ได้หลากหลาย ว่ากันว่าวิธีการนี้ของ "คัทซิชิคะ โฮคุไซ" ยอดจิตรกรแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นแบบของมังงะญี่ปุ่นปัจจุบัน ทั้งยังเป็นหนึ่งในนักวาดยุคแรกๆ ที่ใช้ "เส้นแทนทิศทาง" ที่ใช้สื่อการเคลื่อนไหวของสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ เช่น สายลม ทิศทางของเสียงตะโกน ไปจนถึงการขยับร่างกาย จนเป็นศิลปินญี่ปุ่นที่โด่งดังถึงยุโรปและอเมริกาเหนือ เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน อิทธิพลของลายเส้นแบบโฮคุไซนำมาจัดแสดงใน "นิทรรศการมังงะ โฮะคุไซ มังงะ" เพื่อฉลองครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น เพราะการ์ตูนญี่ปุ่นไม่เพียงเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย แต่ยังเป็นสื่อที่สร้างความรู้ความเข้าใจต่อวิถีชีวิตแดนอาทิตย์อุทัยมาอย่างยาวนาน

โนริฮิโกะ โยชิโอกะ ผู้อำนวยการบริหาร เจแปนฟาวด์เดชั่น กรุงเทพฯ กล่าวว่า นิทรรศการนี้จัดแสดงมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก โดยการได้รู้จัก โฮคุไซ ศิลปินยุคเอโดะ ทำให้ได้เรียนรู้พัฒนาการของการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากยุคสู่ยุค

นิทรรศการมังงะ โฮะคุไซ มังงะ ยังแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วน โดยส่วนสุดท้ายพูดถึงแรงบันดาลใจ ที่โฮคุไซ ส่งต่อถึงนักวาดการ์ตูนรุ่นหลัง ผ่านผลงานนักวาดร่วมสมัย 7 คน จัดแสดงที่ หอนิทรรศการ g23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถึงวันที่ 22 กันยายนนี้ โดยหลังจากนี้จะหมุนเวียนไปจัดแสดงที่ จ.เชียงราย และหาดใหญ่ จ.สงขลา จนถึงเดือนธันวาคมปีนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง