สำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย เรียกร้องไทยยกเว้นวีซ่าให้ชาวไต้หวัน

ต่างประเทศ
26 ส.ค. 60
18:08
1,284
Logo Thai PBS
สำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย เรียกร้องไทยยกเว้นวีซ่าให้ชาวไต้หวัน
สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ซึ่งเป็นสำนักงานตัวแทนของไต้หวันในประเทศไทย เรียกร้องประเทศไทยให้การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) แก่ชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นการเอื้อผลประโยชน์และต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน

วันนี้ (26 ส.ค.2560) นายถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาล สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงการเรียกร้องประเทศไทยให้การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) แก่ชาวไต้หวันว่า การยกเว้นวีซ่าจะเป็นการส่งเสริมให้ชาวไต้หวันมาเยือนไทย กระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอย่างได้ผล โดยเมื่อปี ค.ศ.2016 ชาวไต้หวันเดินทางเข้าประเทศไทย สร้างมูลค่าธุรกิจการท่องเที่ยวสูงถึง 18,600 ล้านบาท ไต้หวันเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอันดับที่ 18 ของไทย แม้ชาวไต้หวันสามารถขอวีซ่าหน้าด่าน (visa on arrival) ที่สนามบินในไทยได้ แต่ต้องรอแถวยาว และการยื่นขอวีซ่าที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยในไทเปค่อนข้างใช้เวลานาน ทำให้แรงจูงใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวไต้หวันลดลง

ขณะเดียวกัน การยกเว้นวีซ่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ตามสถิติเมื่อปี ค.ศ.2015 ไต้หวันเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 13 ของไทย ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไต้หวัน มูลค่าการค้ารวม 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไต้หวันลงทุนสะสมในประเทศไทย 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นประเทศลงทุนใหญ่อันดับ 3 ในไทย การยกเว้นวีซ่าจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจไต้หวัน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้บรรลุตามเป้าหมายได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ การยกเว้นวีซ่าให้ไต้หวันจะไม่กระทบต่อหลักการจีนเดียว เพราะเป็นการปฏิบัติบนพื้นฐานของความอนุเคราะห์ระหว่างกัน ไม่เกี่ยวกับมาตรการทางการเมือง ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศทั่วโลกที่ยกเว้นวีซ่าให้แก่ไต้หวัน ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งปักกิ่งไม่ได้แสดงการคัดค้านแต่อย่างใด หากไทยยกเว้นวีซ่าให้แก่ไต้หวัน ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยจะทำให้ประชาชน 2 ฝ่ายติดต่อไปมาหาสู่ เดินทางท่องเที่ยว ลงทุน แลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างกันมากขึ้น

ทั้งนี้ ไต้หวันได้รับสิทธิยกเว้นวีซ่าจาก 124 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ กลุ่มประเทศเชงเก้นในยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ เป็นต้น รวมทั้งสมาชิกกลุ่มประเทศเอเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง