เตือนภาคกลางเสี่ยงน้ำท่วมใกล้เคียงปี 2549

ภัยพิบัติ
28 ส.ค. 60
20:22
6,361
Logo Thai PBS
เตือนภาคกลางเสี่ยงน้ำท่วมใกล้เคียงปี 2549
นักวิชาการ เตือนภาคกลางเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำรอยปี 2549 ปัจจัยจากน้ำเหนือที่จะมาสมทบ ระดับน้ำในเขื่อนภาคกลางเสี่ยงจะล้นถึง 9 แห่ง บวกกับการระบายน้ำเข้าแก้มลิงในภาคกลาง ที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ยังทำได้ไม่มากชาวนายังเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่เสร็จ

วันนี้ (28 ส.ค.2560) ทีมข่าวไทยพีบีเอส สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมเขต อ.บางบาล จ.พระนครศรี อยุธยา โดยระดับน้ำที่ท่วมสูงกว่า 1 เมตรทำให้ชาวอำเภอบางบาล ต้องใช้เรือออกมาซื้อกับข้าวบนถนน เป็นเวลากว่าครึ่งเดือนแล้ว แม้ชาวบ้านยอมรับอยู่ได้แต่ก็ไม่ต้องการให้น้ำท่วมนานเพราะปีนี้ น้ำท่วม 4 รอบแล้วหลัง เขื่อนระบายน้ำลงมา

นอกจากนี้ยังทำให้สวนกล้วยหอมทอง ของชายคนนี้จมน้ำและขาดทุนไปแล้วกว่า 20,000 บาท เพราะคิดว่าจะเก็บเกี่ยวทันก่อนน้ำท่วม ขณะเดียวกันรวงข้าวที่อยู่ในทุ่งแก้มลิงบางบาลชาวนา ก็เร่งเก็บเกี่ยวเพราะใกล้ครบกำหนดที่ชาวนากับกรมชลประทานตกลงกันจะนำน้ำเข้ามาเพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วม



สัมพัทธ์ เข็มจารี ชาวนาในพื้นที่ทุ่งบางบาล ยอมรับต้องรีบเก็บเกี่ยวก่อนที่จะมีการปล่อยน้ำเข้ามาและไม่ต้องการให้ขาดทุนเพิ่มหลังจากข้าวเคยเสียหายจากข้าวจมน้ำเนื่องจากฝนตกในพื้นที่

" คือเราตกลงคุยกับชลประทานไว้ว่าวันที่ 15 ก.ย.นี้ ข้าวในนานี้ต้องหมด เพราะวันที่ 20 ก.ย.นี้ พร้อมที่จะปล่อยน้ำเข้าได้ ปล่อยน้ำเข้ามาได้ เพราะที่นี่มันเป็นทุ่งทิ้งน้ำ เพราะว่าถ้าหากว่าเกินกว่านั่น ก็ตัวใครตัวมันแล้ว เราตกลงกันไว้แล้วว่า 15 ก.ย.นี้ ต้องเสร็จกันหมดแล้ว ที่นี้เราไม่ถึงหรอก แค่ 10 ก.ย.นี้ก็เสร็จกันหมดแล้ว" ชาวบ้านรายนี้บอก

นักวิชาการห่วงน้ำท่วมภาคกลางซ้ำรอยปี 2549

 
สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ภาคกลางในขณะนี้ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสัญญาณเตือนถึงโอกาสที่ภาคกลางจะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2549

ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ วิเคราะห์ว่า ภาคกลางมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในช่วงเดือนต.ค.นี้ แต่จะไม่หนักเท่ากับน้ำท่วมปี 2554 ที่เกิดจากน้ำหลากจากภาคเหนือ โดยโอกาสพื้นที่ที่จะเกิดน้ำท่วมต้องมีปริมาณฝนสะสม 6 เดือน 950 มิลลิเมตร และขณะนี้ตัวเลขแตะที่ 700 มิลลิเมตร และเหลืออีก 3 เดือนจะแตะหรือไม่ แน่นอนว่าปริมาณฝนตกเฉลี่ยเดือนละ100 มิลลิเมตร ประกอบกับสภาพปัจจุบันจะหนักเพราะปัจจัยจากการทำคันกั้นน้ำและสภาพพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่ต้องเตรียมรับมือจะอยู่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา เช่น จ.สิงห์บุรี อ่างทอง พระนคร ศรีอยุธยา และอ.บางเลน จ.นครปฐม

 

 

น้ำในเขื่อนภาคกลาง 9แห่งเสี่ยงล้น

 

ส่วนสถานการณ์ในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พบว่า ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมสูงสุด 7 เขื่อน ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน อ่างเก็บน้ำน้ำอูน อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ และอ่างเก็บน้ำสิรินธร

นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นอ่าง จากฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในระยะนี้มี 75 แห่ง คือ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย 1 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัด เลยสกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ยโสธร 55 แห่งภาคกลาง จังหวัดปราจีนบุรีนครนายก เพชรบูรณ์ 9 แห่ง ภาคตะวันออก จังหวัดตราด ชลบุรี 10 แห่ง ล่าสุดกรมชลประทาน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่พร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบ คุมอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบกับตัวเขื่อนที่อาจจะตามมาได้จากฝนที่จะตกหนักลงมาเพิ่ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง