เสนอแก้กฎหมาย ม.37,39 ช่องโหว่คุมลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม

สิ่งแวดล้อม
29 ส.ค. 60
12:03
1,736
Logo Thai PBS
เสนอแก้กฎหมาย ม.37,39 ช่องโหว่คุมลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม
นักวิชาการ เผยไทยมีของเสียอันตรายตกค้างสะสมเฉลี่ย 3.35 ล้านตันต่อปี ส่วนที่ไม่อันตราย 50.3 ล้านตันต่อปี แต่เข้าระบบจัดการแค่ 1.03 ล้านตัน เสนอรัฐบาลปรับแก้กฎหมาย ม.37 และ39 ที่บทลงโทษต่ำ การบังคับใช้ไม่เข้มงวด

วันนี้ (29ส.ค.2560) รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร หัวหน้าโครงการวิจัยและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน นำเสนอสถานการณ์การจัดการของเสียอันตรายของไทยที่จัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบมีปัญหากากอุตสาหกรรมตกค้างสะสมเฉลี่ย 3.35 ล้านตันต่อปี ส่วนที่ไม่อัน ตราย 50.3 ล้านตันต่อปี แต่เข้าระบบจัดการแค่ 1.03 ล้านตัน ขณะที่ในปี 2559 มีโรงงานอุตสาหกรรม 138,083 แห่ง และจำนวนนี้เป็นโรงงานประเภทที่ 3 จำนวน 77,738 แห่ง โรงงานรับบำบัดและกำจัดของเสียอันตรายมากถึง 1,962 แห่ง จากช่วง 20 ปีก่อนที่มีเพียง 1 แห่งคือบริษัทเจนโก้

นักวิชาการ บอกว่า งานวิจัยยังพบว่า ขณะนี้ไทยมีกฎ หมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ,พ.ร.บ. วัตถุอัตราย พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และยุทธศาสตร์ในการควบคุมกำกับดูแลค่อนข้างครบถ้วน แต่ทางตรงข้ามยังพบว่าแม้จะกฎหมายควบคุม แต่ยังมีบทลงโทษต่ำ และการติดตามตรวจสอบยังไม่เข้มข้น หน่วยงานอนุญาตและกำกับเป็นหน่วยงานเดียวกัน เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมโรงงาน เป็นช่องว่างที่เกิดการลักลอบทิ้งของเสีย และการนำเข้าของเสียอันตรายเข้ามาในประเทศจากการยกเว้น ตามข้อตกลงการค้าเสรี

 

แนะแก้กฎหมาย มาตรา 37,39 จุดอ่อนบทลงโทษ

" ยกตัวอย่างใน ม.37 และ 39 ของพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535ที่ให้กรมโรงงาน สามารถออกคำสั่งปิด หรือเพิกถอนใบอนุญาตโรงงาน ที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรมหรือทำผิดซ้ำได้ แต่ทางปฏิบัติยังทำได้ยาก จากกลไก และบทลงโทษที่ไม่กำหนดอัตราโทษแบบเปรียบเทียบปรับ และเมื่อชำระค่าปรับแล้วภายใน 30 วันคดีก็ถือว่าจบ"

นอกจากนี้ รศ.ดร. กอบกุล เสนอว่าอยากให้มีการปรับ ปรุงการกำหนดโทษขั้นต่ำในการทิ้งขยะอุตสาหกรรม การระบายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ให้เป็นความผิดที่ไม่อยู่ในข่ายเปรียบเทียบปรับได้ และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการส่งเสริมการตั้งโรงงานบำบัด กำจัดกากอุตสาหกรรม ที่ยังไม่เข้าระบบ ข้อกำหนดการควบคุมสถานที่ตั้งโรงงานขาดความรัดกุมเปิดช่องให้อนุญาตตั้งโรงงานความรัดกุมเปิดช่องให้อนุญาตตั้งโรงงานในสถานที่ไม่เหมาะสม เช่น ใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ คลองชลประทาน พื้นที่เกษตร กรรม และแก้ไขบทบัญญัติใน พ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อแยกขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายไม่เป็นขยะมูลฝอย

 

 

ชาวบ้านโวยจมกองขยะพิษ 4 หมื่นตัน 10 ปี

ขณะที่นายวีระชัย ช้างสาร ตัวแทนสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน จ.ระยอง บอกว่า ต้องการให้มีหน่วยงานกลางเข้าไปแก้ไขกองขยะอุตสาหกรรมจากโรรงานแร่ทองแดงในพื้นที่หมู่ 8  ต.มาบข่า อ.พัฒนานิคม ที่ถูกปิดกิจการเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนแต่กองขยะอุตสาหกรรมกองเท่าภูเขาราว 40,000 ตันถูกทิ้งไว้กลางแจ้ง ยังไม่มีการนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ที่ผ่านมาเคยยื่นร้องเรียนไปหลายหน่วยงานให้เข้ามาเร่งแก้ แต่ไม่มีเจ้าภาพ ส่งผลให้เกิดการชะล้างของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม ปรอท แพร่กระจายและปนเปื้อนในลำคลองสาธาณะ ล่าสุดเมื่อวันที่  21ส.ค.ที่ผ่านมาทำหนังสือร้องเรียนไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พร้อมภาพถ่ายหลักฐานต่างๆเพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมายแก้ไข เนื่องจากระยองถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง