"ไข้หวัดใหญ่" อย่าคิดว่าหายแล้วจบ แพร่เชื้อได้อีก 7 วัน

สังคม
30 ส.ค. 60
10:44
56,906
Logo Thai PBS
"ไข้หวัดใหญ่" อย่าคิดว่าหายแล้วจบ แพร่เชื้อได้อีก 7 วัน
สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร จัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่และทำความเข้าใจให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มักจะมีการเจ็บป่วยในช่วงสภาพอากาศปลี่ยนแปลงบ่อย

วันนี้ (31 ส.ค.2560) สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร จัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่และทำความเข้าใจให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มักจะมีการเจ็บป่วยในที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ดังนี้

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยตลอดทั้งปี เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ส่วนมากพบผู้ป่วยในฤดูฝน ฤดูหนาว และช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา มีอยู่ 3 ชนิด คือ ชนิด A ,B และ C เชื้อไวรัสชนิด A และ B มักก่อให้เกิดโรคในคนและมีสายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยสามารถแพร่ติดต่อไปยังคนอื่นๆ โดยการไอ จามรดกันหรือหายใจเอาละอองน้ำลายเข้าไป โดยเฉพาะหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร จะมีโอกาสรับเชื้อมากขึ้น ผู้ป่วยบางคนได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อน เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู เป็นต้น

เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางจมูก ปากหรือตา โดยเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วยจนถึง 7 วัน หลังอาการป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการป่วยใน 1 - 2 วัน หลังได้รับเชื้อ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย โดยทั่วไปอาการป่วยจะดีขึ้นภายใน 3 - 4 วัน และหายเป็นปกติใน 1 - 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์หรือเภสัชกร และสามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

-รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ
-เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำไม่เย็นจัด
-ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ
-งดดื่มน้ำเย็น
-รับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากเพียงพอ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้
-นอนพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท
ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อทุกราย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป


ผู้ป่วยที่เสี่ยงป่วยรุนแรง

-หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 7 เดือนขึ้นไป
-ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ โรคไต เบาหวาน โรคเลือด มะเร็ง เอดส์ ฯลฯ
-ผู้พิการทางสมอง
-คนอ้วนมาก (น้ำหนัก 100 กินโลกรัมขึ้นไป)
-เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 2 ปี
-ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
-เมื่อมีอาการป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
-เวลาไอหรือจาม ควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกแล้วทิ้งขยะที่มีฝาปิด
-ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนรับประทานอาหาร หลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก
-หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไอ จาม หรือมีไข้ตัวร้อน
-เมื่อป่วยควรหยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้หายป่วยเร็ว และไม่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่น
-ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงป่วยรุนแรง ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผลิตจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ตายแล้ว นำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันการเจ็บป่วยจากเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่แพร่ติดต่อจากคนสู่คน โดยภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีน และป้องกันได้นานประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วก็ยังอาจจะป่วยเป็นโรคนี้ได้ แต่จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกครั้ง

ข้อมูลจากสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง