ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์ฯ เตือนความปลอดภัยใช้คิวอาร์โค้ดชำระเงิน

เศรษฐกิจ
30 ส.ค. 60
18:27
3,282
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์ฯ เตือนความปลอดภัยใช้คิวอาร์โค้ดชำระเงิน
นักวิชาการเป็นห่วงความปลอดภัยจากการชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ด แม้ว่าจะวางระบบไว้ดี แต่ทักษะการใช้เทคโนโลยีของแต่คนไม่เท่ากัน และยังเสี่ยงเงินในบัญชีอาจหาย หรือถูกโอนไปโดยไม่รู้ตัว

วันนี้ (30 ส.ค.2560) การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด หรือบาร์โค้ด 2 ชั้น ถูกวางระบบการทำงาน และจัดการด้านความปลอดภัย ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากการลงทะเบียนยืนยันตัวตน สำหรับทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พร้อมเพย์ ซึ่งเป็นช่องทางบัญชีหนึ่งที่สามารถชำระเงินด้วยวิธีการสแกนคิวอาร์โค้ด

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะจากการถูกโจรกรรมข้อมูลบนบัตร หรือสกิมมิ่ง รวมทั้งความเสี่ยงจากการถูกรูดเงินออกจากบัญชี หากกระเป๋าสตางค์หาย หรือโทรศัพท์มือถือหาย เนื่องจากการดำเนินการธุรกรรมใดๆ จะต้องได้รับการยืนยันจากผู้ใช้งาน ผ่านรหัส 6 หลัก หรือบางธนาคาร ต้องกดรหัสที่สามารถใช้ได้ครั้งเดียว หรือรหัสโอทีพี อีกทั้งยังยากต่อการสร้างรูปคิวอาร์โค้ดปลอม เพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานชำระเงิน เนื่องจากทุกธุรกรรมการโอนเงินที่จะเกิดขึ้น จะแสดงผลทั้งผู้ประกอบการและผู้ชำระเงิน เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง

นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า แม้ระบบความปลอดภัยในการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด จะสามารถป้องกันปัญหาการโอนเงินแบบผิดฝาผิดตัว รวมทั้งการโจรกรรม แต่ยังมีความเสี่ยงว่าเงินในบัญชีอาจหาย หรือถูกโอนไปโดยไม่รู้ตัว หากผู้ใช้งานไม่มีทักษะการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ดีพอ หรือไม่รู้จักระแวดระวังปล่อยให้บุคคลอื่นเห็นรหัส 6 หลัก สำหรับยืนยันตัวในโมบายแบงก์กิ้ง

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการถูกไวรัสโทรจันที่แฝงในแอพลิเคชั่นต่างๆ โดยเฉพาะในระบบแอนดรอยด์ที่อาจเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเก็บสะสมรายงานพฤติกรรมการใช้จ่าย ผ่านการทำธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก่อนนำไปประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลเป็นบิ๊กดาต้าทางการค้าของธนาคาร จึงเรียกร้องให้แบงก์ชาติประกาศให้ชัดเจนว่าแอพลิเคชั่นธนาคาร สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ระดับไหน

นายปริญญา ยังแนะนำให้ผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ควรเก็บรักษาความลับรหัสใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง 6 หลักอย่างดี โดยเฉพาะการกดรหัสดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะ และไม่ควรปล่อยให้มียอดเงินในบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งผูกกับโมบายแบงก์กิ้งจำนวนเกินไป ขณะเดียวกัน ควรอ่านเงื่อนไขการขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลของแอพลิเคชั่นต่างๆ ก่อนดาวน์โหลด อย่างถี่ถ้วน

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม


ธปท.ประกาศมาตรฐานกลางใช้คิวอาร์โค้ดชำระเงิน 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง