คลี่ร่างพ.ร.บ.น้ำ 3 กลุ่มใครได้ประโยชน์ "จ่ายเพิ่ม" ค่าใช้น้ำ

สิ่งแวดล้อม
5 ก.ย. 60
18:58
6,890
Logo Thai PBS
คลี่ร่างพ.ร.บ.น้ำ 3 กลุ่มใครได้ประโยชน์  "จ่ายเพิ่ม" ค่าใช้น้ำ
ประเมินผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่กำหนดกลุ่มผู้ใช้น้ำ 3 ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และน้ำในครัวเรือน ที่อาจต้องรับภาระการจ่ายค่าน้ำที่ใช้ตามปริมาณ ใครใช้มากต้องจ่ายมาก โดยอีสวอเตอร์ สะท้อนอาจต้องมีต้นทุนเพิ่ม 6 เท่า

วันนี้(5 ก.ย.2560) ทีมข่าวไทยพีบีเอส สำรวจผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ขณะนี้อยู่ในขั้นพิจารณาของสภนิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

หากดูนิยามคำว่า "ทรัพยากรน้ำสาธารณะ" หมายความอะไร ในร่างกฎหมายบอกว่า น้ำในแหล่งน้ำที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม่น้ำ ลำคลอง ทางน้ำ บึง แหล่งน้ำใต้ดิน ทะเลสาบแหล่งน้ำธรรมชาติแหล่งน้ำที่รัฐสร้าง

มีคำถามว่าแล้วใครต้องจ่ายและจ่ายเท่าไหร่ต้องดู มาตรา 39 แบ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำไว้ 3 ประเภท ประเภทแรก ใช้น้ำเพื่อดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน สองใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์ เช่น การเกษตร เลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้าการประปา ประเภทที่ 3 ใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมาก อาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ เช่นอุตสาหกรรมใหญ่ การผลิตไฟฟ้า หรือโครงการของรัฐ

 

 

ส่วนการวัดอย่างไร มีระบุไว้ร่างกฎกระทรวง ที่เสนอโดยกรมทรัพยากรน้ำ ถ้าคุณปลูกข้าว - ปลูกอ้อย 50 - 1,000 ไร่พืชผัก ไม้ประดับ 20- 200ไร่ ปลูกไม้ผลยืนต้นจำนวน 25- 200ไร่ สัตว์เลี้ยงเช่น วัว 20 - 200 ตัว หมู 30 - 1,000 ตัว ไก่ 5,000 - 20,000 ตัว เลี้ยงเป็ด 1,000 - 50,000 ตัว นี่คือเกณฑ์ของกลุ่ม 2 ใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์ ต้องจ่าย 50 สต.ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร
ถ้าคุณปลูกข้าวปลูกอ้อยน้อยกว่า 50 ไร่ ไม่ต้องจ่าย ถ้าคุณเลี้ยงวัวน้อยกว่า 20 ตัว ไม่ต้องจ่าย แต่ถ้าใช้มากกว่านี้ ถือเป็นกลุ่ม 3 ใช้น้ำมาก ใครใช้น้ำจากลุ่มน้ำไหนจะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำพิจารณารายละเอียดว่าคุณต้องจ่ายหรือไม่

แล้วถ้าต้องจ่ายจ่ายเท่าไหร่ วัดอย่างไร มี 2 วิธีที่ถกเถียงในรายละเอียดกันอยู่ วิธีแรกอาจต้องมีอุปกรณ์วัดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะอาจจะคล้ายๆมิเตอร์น้ำประปา ใช้เท่าไหร่ก็จ่ายตามจริง กับอีกวิธีคือคำนวณจากพื้นที่เช่น ค่าเฉลี่ยปลูกข้าว 1 ไร่ใช้น้ำ 1,200 ลูกบาศก์เมตร ต่อ 1 รอบการผลิต ถ้าปลูก 50 ไร่ ใช้น้ำ 60,000 ลูกบาศก์เมตรต้องจ่าย 30,000 บาท ถ้าปลูกกันเต็มที่3 รอบการผลิตต่อปี 50 ไร่ต้องจ่าย 9 แสนบาท


ภาคเอกชน-เกษตรใครกระทบจ่ายค่าน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาอาจจะกังวลว่าคนที่จะไม่ยอมรับคือภาคธุรกิจ ซึ่งต้องใช้น้ำมาก แต่จากการสอบพบว่า ส่วนใหญ่ไม่กังวล เพราะน้ำที่กลุ่มอุตสาหกรรมใช้ เป็นการซื้อจากเอกชนอยู่แล้ว และสัดส่วนไม่ได้มากเท่ากับภาคการเกษตร โดยพบว่าถ้าดูสัดส่วนการใช้น้ำทั้งประ เทศ 100 เปอร์เซ็นต์ ภาคอุตสาหกรรม ใช้ทั้งหมด 6.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กิจกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุดคือ ภาคเกษตร ใช้ร้อยละ 65 เปอร์เซ็นต์ หรือ 40,000ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี


ที่ผ่านมาเอกชนซื้อน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว จึงเห็นด้วยกับการจัดเก็บค่าน้ำให้เป็นระบบ แต่ผลกระทบอาจจะต้องประเมินกันต่อ เมื่ออัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน ถูกประกาศไว้ในกฎหมายลูก
แต่สำหรับคนที่มีรายได้จากการขายน้ำอย่าง เครือบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด หรือ อีสวอเตอร์คงจะทำใจยากนิดนึง ถึงแม้จะยังไม่เห็นอัตราการจัดเก็บ

 



เพราะอีสวอเตอร์ เป็นผู้จัดหาน้ำดิบ มาผลิตน้ำประปา ขายให้กับภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ในพื้นที่ที่การประปาส่วนภูมิภาคเข้าไม่ถึง ที่ผ่านมา อีสวอเตอร์ ซื้อน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ของกรม ชลประทาน ในราคาลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ และอีกส่วนหนึ่ง ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำายต่างๆ และทางน้ำสาธารณะ ซึ่งส่วนนี้เคยแต่ขออนุญาต แต่ไม่เคยต้องเสียเงิน ซึ่งต่อไปจะต้องเสีย

และหากอัตราที่ต้องจ่ายเป็นไปตามที่ปรากฎเป็นข่าว จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นถึง 6 เท่า และจะมีผลต่อราคาน้ำที่ต้องไปเก็บเพิ่มจากผู้ใช้น้ำ  คำถามสำคัญก็คือจากนี้ไป เมื่อถึงหน้าแล้ง รัฐจะบริหารจัดการปัญหาน้ำแล้งอย่างไร เงินจากการจัดเก็บ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร และอำนาจในการดูแลตัดสินใจ จะอยู่ในมือของ กนช. เพียงหน่วยงานเดียว หรือ ควรจะมีเรกูเรเตอร์ เน้นดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง