ชำแหละ 12 โครงการลงทุนไทย “ข้ามแดน” กระทบสิทธิมนุษยชน-สวล.

สิ่งแวดล้อม
8 ก.ย. 60
17:49
2,688
Logo Thai PBS
ชำแหละ 12 โครงการลงทุนไทย “ข้ามแดน” กระทบสิทธิมนุษยชน-สวล.
"ETO Watch” เปิดผลสำรวจโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากนักลงทุนไทย ทั้งการเขื่อนฮัตจี ในเมียนมา ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐ กิจพิเศษทวาย โรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการปลูกอ้อย และโรงน้ำตาลในกัมพูชา เริ่มเกิดปัญหาความขัดแย้งด้านสิทธิมนุษยชน กับกลุ่มชาติพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม

วานนี้ (7 ก.ย.2560) คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย หรือ ETO Watch ได้นำเสนอรายงานการศึกษาข้อมูลการลงทุนของไทย ทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน ที่ลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศเพื่อนบ้านในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ 12 โครงการที่อาจมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบในอนาคต ได้แก่ โครง การโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนฮัตจี รัฐกะเหรี่ยญ ประเทศเมียนมา, โครงการเหมืองแร่ถ่านหินบานชอง เมืองทวาย ประเทศเมียนมา, โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนมา, โรงงานผลิตปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน มะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองเย รัฐมอญ ประเทศเมียนมา, โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา เมืองมยิตตา ประเทศเมียนมา, โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว, โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว, โครงการโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว, โครงการเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลเกาะกง จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา, โครงการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาล จังหวัดโอดอร์เมียนเจย ประเทศกัมพูชา, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ประเทศเวียดนาม

 

 

ไทยแห่ลงทุนเมียนมาพุ่งกว่า 1.14 แสนล้านบาท 

นายมนตรี จันทวงศ์ คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย ตั้งข้อสังเกตว่า นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนโครงการในประเทศเมียนมามากที่สุดถึง 5 โครงการ สอดคล้องกับข้อ มูลการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน ปี 2548 – 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ลง ทุนในประเทศเมียนมา มากเป็นอันดับ 2 ด้วยเงินจำนวน 114,362.01 ล้านบาท เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น


ฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำการสำรวจและพบสาเหตุสำคัญในการลงทุนข้ามแดน 4 ข้อ คือ เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ หรือรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมในประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ หรือมีแนวโน้มที่จะเติบโต รวมทั้ง แสวงหาทรัพยากรธรรมชาติและเข้าถึงวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกกว่าในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตรวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ และเพื่อช่วยในด้านการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้นักลงทุนไทยมีการลงทุนข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2528 และเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2534 มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

ละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์-กระทบสิ่งแวดล้อม

ด้าน น.ส.ชนาง อำภารักษ์ ทีมวิจัยคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย บอกว่า จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้าน และตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณที่มีการซื้อสัมปทาน เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ พบว่าอาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากการเปิดเผยรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ การศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ที่ไม่ครบถ้วน ชัดเจน และหน่วงเหนี่ยวเวลา โครงการส่วนใหญ่มีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว แต่มีการศึกษาผลกระทบในภายหลัง


“ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยส่วนใหญ่คือ กลุ่มชาติพันธุ์ทวาย กะเหรี่ยง รวมถึงคนไทยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน บางกรณีมีการเยียวยาให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม และประชาชนมีแนวโน้มที่จะสูญเสียรายได้จากแหล่งทำมาหากิน และพืชเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ” นักวิจัย ระบุ

ขณะที่ยังพบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรเพิกเฉย เนื่องจากโครงการต่างๆ อาจส่งผลให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ สัตว์น้ำตาย ระบบนิเวศเสียหาย บางกรณีอาจพบสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำจนสร้างปัญหาให้กับประชาชนที่ใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภค ทั้งยังเสี่ยงต่อการทำลายพื้นที่ป่าสมบูรณ์จำนวนมาก และสภาพหน้าดินอาจเสื่อมโทรมจนไม่สามารถปลูกพืชได้ 

 

จี้รัฐบาลไทย-กสม.เร่งตรวจสอบ


นายธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย ย้ำว่า ขณะนี้กระบวนการในการตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกสม. ของโครงการทั้ง 12 โครงการ สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มโครงการที่มีการร้องเรียนต่อกสม. ส่งรายงานการตรวจสอบให้คณะรัฐมนตรีแล้ว และคณะรัฐมนตรี (หรือนายกรัฐมนตรี) มีมติหรือคำสั่งต่อเนื่องไปยังหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนฮัตจี โครงการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลโอดอเมียนเจย โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

 

 

ส่วนกลุ่มโครงการที่มีการร้องเรียนต่อ กสม. ส่งรายงานการตรวจสอบให้คณะรัฐมนตรีแล้ว ประกอบด้วย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี โครงการโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ โครงการเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลเกาะกง กลุ่มโครงการที่มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ได้แก่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา โครงการเหมืองแร่ถ่านหินบานชอง และกลุ่มโครงการที่ไม่ได้มีการร้องเรียนต่อ กสม. คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองเย โรงงานผลิตปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน มะละแหม่ง โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ


ในภาพรวม ยังมีโครงการลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศเพื่อนบ้านอีกจำนวนมาก ซึ่งทางคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย จะเร่งศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ และทำรายงาน เสนอกสม.ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง