ผู้ประกอบการภูทับเบิกไม่เชื่อเหตุลอบวางระเบิดเป็นฝีมือคนในพื้นที่

อาชญากรรม
12 ก.ย. 60
11:52
353
Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการภูทับเบิกไม่เชื่อเหตุลอบวางระเบิดเป็นฝีมือคนในพื้นที่
ผู้ประกอบการบนภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ไม่เชื่อว่าเหตุลอบวางระเบิด เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จะเป็นฝีมือของคนในพื้นที่ คาดว่าเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อเตือนเจ้าหน้าที่

วันนี้ (12 ก.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุดเกิดเหตุลอบวางระเบิดบริเวณทางแยกเข้าหมู่บ้านภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งทำให้คนขับรถโดยสารเสียชีวิต 1 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา เป็นที่ตั้งของกองอำนวยการปฏิบัติการรื้อถอนรีสอร์ทบนภูทับเบิก ทำให้ตำรวจตั้งสาเหตุไว้ 3 ประเด็น คือผู้ไม่หวังดีทำลายแหล่งท่องเที่ยวของ จ.เพชรบูรณ์, ต้องการข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐ และมุ่งทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่จะขึ้นไปปฏิบัติการรื้อถอนภูทับเบิก

น.ส.อำไพ แซ่ฝ่า ผู้ประกอบการบนภูทับเบิก เปิดเผยว่า แม้จะมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เสียประโยชน์จากการรื้อถอนรีสอร์ท แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นฝีมือของคนในพื้นที่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าการจัดระเบียบ ไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่ที่เดียว อาจเป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อเตือนเจ้าหน้าที่หรือไม่ พร้อมขอร้องให้สื่อมวลชนอย่าเพิ่งนำเสนอข่าวเชื่อมโยงอะไรทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุป เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว

มีรายงานว่า วันนี้ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 มีแผนลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ พร้อมกับหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประเมินความเสี่ยงถึงแผนการเข้ารื้อรีสอร์ทเพิ่มในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ขณะที่การรวบรวมหลักฐานจากจุดเกิดเหตุและการสืบหาแรงจูงใจ เจ้าหน้าที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกันยายนนี้

นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามมาตรการแก้ไขปัญหาและจัดการภูทับเบิก ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 35/2559 ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวบนภูทับเบิก

สำหรับรีสอร์ทภูทับเบิกที่อยู่ในกลุ่มที่จะต้องรื้อถอนมีทั้งหมด 95 แห่ง ตามบัญชีการสำรวจของทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เพชรบูรณ์ โดยแบ่งแยกกลุ่มรีสอร์ทเหล่านั้นออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศาลมีคำตัดสินพิพากษาแล้วและกลุ่มที่ตั้งอยู่ในทำเลสุ่มเสี่ยง, กลุ่มที่อยู่ในชั้นสอบสวนดำเนินคดี และกลุ่มซึ่งผู้ประกอบการและเจ้าของเป็นชาวม้งในพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการรื้อถอนตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2559 ถึงปัจจุบันไปแล้ว 55 แห่ง ยังคงเหลือ 40 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง