เสนอ ครม.เคาะเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีสูงสุด 1 แสนบาท

เศรษฐกิจ
12 ก.ย. 60
14:19
5,136
Logo Thai PBS
เสนอ ครม.เคาะเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีสูงสุด 1 แสนบาท
กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีนำรายจ่ายเบี้ยจากการซื้อประกันสุขภาพ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยคาดหวังจะดึงให้ประชาชนสนใจสุขภาพและช่วยลดภาระงบประมาณ

หลังจากที่กรมสรรพากรเห็นชอบในหลักการให้การทำประกันสุขภาพสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการแล้ว โดยให้ประชาชนที่ซื้อเบี้ยประกันสุขภาพมารวมกับเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพื่อต้องการลดภาระการจ่ายงบประมาณของประเทศในการรักษาพยาบาลของประชาชนด้วยการให้ประชาชนหันมาทำประกันสุขภาพเองมากขึ้นและยังเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจประกันมีโอกาสเติบโตขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้ให้กรมสรรพากรและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเร่งทำรายละเอียดเสนอ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ส่วนการประกาศรายชื่อผู้มีรายได้น้อยที่มีสิทธิ์รับสวัสดิการจากรัฐในวันที่ 15 ก.ย.2560 ปลัดกระทรวงคลังคาดว่าจะมีจำนวน 11.3 - 11.4 คน และมีผู้ที่เป็นลูกหนี้นอกระบบเฉลี่ยจังหวัดละ 9,000 คน ซึ่งได้ส่งรายชื่อให้ธนาคารทุกแห่งแล้วเพื่อเชิญผู้มีรายได้น้อยที่เป็นลูกหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ

ส่วนข้อมูลที่พบว่ามีผู้มีรายได้น้อยที่จบปริญญาเอกนั้น ยอมรับว่าเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกับความจริง แต่ยังไม่ทราบสาเหตุ เบื้องต้นจะบักทึกข้อมูลรายชื่อผู้ที่ให้ข้อมูลผิด เพื่อเป็นกลุ่มที่ต้องตรวจสอบละเอียดมากขึ้นหากมาลงทะเบียนในปีต่อไป และยังไม่มีแนวคิดจะกำหนดระดับการศึกษาเป็นเงื่อนไขผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐ

ส่วนความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่าการที่มีการเสนอในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ลดเพดานการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยลงเหลือ 20 ล้านบาท จาก 50 ล้านบาท ถือเป็นหลักคิดที่ดี เพราะการลดเพดานการจัดเก็บภาษีลงจะทำให้มีฐานคนเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งเป็นหลักการที่กระทรวงการคลังรับได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปหลังผ่านการพิจารณาในสภาวาระ 3 รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องออกประกาศยกเว้นในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เช่น พื้นที่การศึกษาและโรงเรียน

นายสมชัยเชื่อว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเริ่มใช้ได้ทันในปี 2562 และในปี 2561 จะเป็นปีที่หน่วยงานภาครัฐให้ความรู้แก่องค์กร ภาคธุรกิจต่างๆ ให้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการใช้ภาษีจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง