"บังกลาเทศ" เสนอคว่ำบาตรเมียนมา กดดันแก้ปัญหาโรฮิงญา

ต่างประเทศ
18 ก.ย. 60
19:43
951
Logo Thai PBS
"บังกลาเทศ" เสนอคว่ำบาตรเมียนมา กดดันแก้ปัญหาโรฮิงญา
รัฐบาลบังกลาเทศเรียกร้องให้นานาชาติกดดันรัฐบาลเมียนมาให้รับชาวโรฮิงญากลับประเทศ หลังจากอพยพหนีปัญหาความไม่สงบในรัฐยะไข่ ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตรกองทัพเมียนมาเช่นกัน

วันนี้ (18 ก.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคว่ำบาตรกองทัพเมียนมา โดยมาตรการคว่ำบาตรหลักๆ คือการห้ามค้าขายอาวุธกับกองทัพเมียนมา เพื่อให้เมียนมายุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา การอายัดทรัพย์สินและห้ามเจ้าหน้าที่ของเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามชาวโรฮิงญาเดินทางเข้าประเทศ เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่านายพลที่มีตำแหน่งใหญ่โตในกองทัพเมียนมาจะหันมารับฟังเสียงจากประชาคมโลกในปัญหาโรฮิงญาบ้าง หากตัวเองต้องเดือดร้อนจากมาตรการคว่ำบาตร

ขณะที่บังกลาเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ทะลักเข้าประเทศมากกว่า 400,000 คน นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงครั้งล่าสุดในรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้อพยพชาวโรฮิงญาเป็นผู้หญิง เด็ก เยาวชน และคนชรา ขณะนี้บังกลาเทศขาดแคลนสิ่งของจำเป็นแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่พัก อาหาร น้ำดื่ม และปัญหาสุขภาพอนามัยที่ย่ำแย่ลง มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคระบาดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่าภายในสิ้นปีนี้ น่าจะมีชาวโรฮิงญาอพยพมากถึง 1 ล้านคน ซึ่งเมื่อวานนี้ รัฐบาลเมียนมาได้ออกมาแสดงท่าทีว่าจะไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาที่หนีข้ามพรมแดนไปแล้ว และมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่ก่อเหตุโจมตีตำรวจและทหารเมียนมากลับประเทศ

ประเด็นนี้กำลังจะเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ เชค ฮาซินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศที่กำลังจะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติในสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้นานาชาติกดดันเมียนมาให้รับชาวโรฮิงญากลับประเทศ ถึงกับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะตอนนี้เกิดวิกฤติขึ้นในค่ายผู้อพยพชาวโรฮิงญาแล้วและน่าจะเลวร้ายลงไปกว่าเดิม

คณะกรรมาธิการข้อมูลข่าวสารเมียนมาออกแถลงการณ์ระบุว่า ชาวโรฮิงญาที่หนีออกนอกประเทศไป คือพวกที่กลัวถูกจับ เพราะเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรง ดังนั้น กฎหมายจะคุ้มครองเฉพาะคนที่ยังอยู่ในหมู่บ้านเท่านั้น

ท่าทีดังกล่าวนี้สอดคล้องกับความเห็นของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา ที่ระบุว่าชาวโรฮิงญาที่มีแนวคิดสุดโต่งพยายามที่จะสร้างฐานที่มั่นขึ้นในบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ และย้ำว่าชาวโรฮิงญาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่เมียนมา รวมทั้งก่อนหน้า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย เคยกล่าวว่าการที่รัฐบาลเมียนมาปราบปรามชาวโรฮิงญา ก็เปรียบเหมือนการที่รัฐบาลอังกฤษปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไออาร์เอ

คาดว่าในการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ ในที่ประชุมจะหยิบยกปัญหาชาวโรฮิงญาขึ้นมาหารือในที่ประชุมด้วย โดยในปีนี้นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งถือเป็นผู้นำตัวจริงเสียงจริงของเมียนมา ไม่ยอมเข้าร่วมการประชุมด้วย หลังถูกนานาชาติกดดันอย่างหนัก

แต่ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) นางซู จี เตรียมที่จะออกแถลงการณ์ถึงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ บอกว่า นี่คือโอกาสสุดท้ายของนางซู จี ที่จะยุติความรุนแรงในรัฐยะไข่ ซึ่งต้องรอดูในวันพรุ่งนี้ว่าท่าทีของนางซู จี จะเป็นอย่างไร มีความชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหานี้มากไปกว่าเดิมหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง