ไทยพบ “แมงมุมฝาปิดโบราณ” ชนิดใหม่ของโลกที่ป่าแม่วงก์

Logo Thai PBS
ไทยพบ “แมงมุมฝาปิดโบราณ” ชนิดใหม่ของโลกที่ป่าแม่วงก์
คณะวิทย์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค้นพบ “แมงมุมฝาปิดโบราณ” ชนิดใหม่ของโลกในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นหนึ่งในกลุ่มแมงมุมที่หายากที่สุดในโลก พบเพียงแค่ 96 ชนิด และเป็นชนิดที่ 33 ที่พบในไทย

วันนี้ (20 ก.ย.2560) นายณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ที่ปรึกษา คณะผู้วิจัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมผู้วิจัย อาจารย์และนิสิตภายในภาควิชา ค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยตั้งชื่อว่า "แมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์" เป็นหนึ่งในกลุ่มแมงมุมที่หายากที่สุดในโลก

 

 

ปัจจุบันมีการค้นพบแล้ว 96 ชนิด หรือ จำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับแมงมุมที่มีการค้นพบแล้วกว่า 46,000 ชนิด โดยพบอาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณด้านตะวันออกของประเทศจีนประเทศญี่ปุ่น และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ ประเทศไทยเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีรายงานการค้นพบแมงมุมในกลุ่มนี้มากที่สุด โดยค้นพบแล้ว 32 ชนิด และเป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก

 

 

นายณัฐพจน์ ระบุว่า แมงมุมฝาปิดโบราณที่ค้นพบมีประมาณไม่เกิน 100 ตัว และค้นพบได้เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เท่านั้น โดยจะทำรังบนที่สูงที่มีลักษณะเป็นหน้าผาดินมีความชันสูงมากกว่า 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป นอกจากนี้ จากหลักฐานทางบรรพชีวินวิทยา ระบุว่า บรรพบุรุษแมงมุมฝาปิดโบราณ มีการถือกำเนิดมากกกว่า 300 ล้านปีก่อน คณะผู้วิจัยจึงเตรียมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันรักษาผืนป่าแม่วงก์ให้อดุมสมบูรณ์ เพราะหากป่าถูกทำลาย เท่ากับว่าแมงมุมฝาปิดโบราณจะสูญพันธุ์ทันที

 

 

“การค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์นี้แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแมงมุมฝาปิดโบราณทุกชนิดจะใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอยู่ภายในรัง ซึ่ง แมงมุมเพศเมียอาจมีอายุได้ถึง 20 ปี ทำให้สามารถพบแมงมุมชนิดนี้ได้เฉพาะที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงเท่านั้น นอกจากนี้คณะผู้วิจัยหวังว่าการค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกในครั้งนี้จะช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศน์ดำเนินไปอย่างสมดุล” นายวรัตถ์ ระบุ

ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะทำการศึกษาและพัฒนาต่อไป โดยวางแผนจะพัฒนาอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ในบริเวณที่พบแมงมุมฝาปิดโบราณแม่วงก์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจ และอาจมีการนำใยของแมงมุมไปพัฒนาเพื่อผลิตเป็นเสื้อผ้าหรือเครื่องมือต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง