แอพพลิเคชัน "พิทักษ์ไพร" แนวรบใหม่ปราบขบวนการรุกป่า

สิ่งแวดล้อม
20 ก.ย. 60
16:53
2,141
Logo Thai PBS
แอพพลิเคชัน "พิทักษ์ไพร" แนวรบใหม่ปราบขบวนการรุกป่า
กรมป่าไม้ ใช้แอพพลิเคชันไฮเทค "พิทักษ์ไพร" เปิดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาบุกรุกป่า ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงส่งข้อมูลผ่านมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบได้ทันภายใน 15 วัน

ถือเป็นการเปิดแนวรบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการป้องกันปัญหาการบุกรุกป่า โดยนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ บอกในงานวันสถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 121 ปี จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ฟอ เรสต์ 4.0 อิน ไทยแลนด์ 4.0" ว่า จากนี้จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพ ยากรป่าไม้ให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรป่าไม้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมป่าไม้ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า พัฒนาระบบปฏิบัติการค้นหาพื้นที่บุกรุกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการวิเคราะห์หาจุดพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนสภาพและส่งข้อมูลออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น "พิทักษ์ไพร" ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจยึด พร้อมทั้งจับกุมการบุกรุกพื้นที่ป่าได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์

 

น.ส.วัลยา หมื่นสกุล หน่วยคัดกรอง ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า บอกว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จากระบบคสช. ที่มีดาวเทียมส่งภาพพื้นที่ป่าที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเปรียบเทียบภาพจากดาวเทียม 2 เวลา เพื่อหาความเปลี่ยนแปลงของเร้นท์สีซึ่งภาพที่มีความละเอียดสูงจะใช้ระยะเวลาห่างกัน 15 วันต่อ 1 รอบ หรือเร็วที่สุดภายใน 3 – 4 วัน แล้วนำมาวิเคราะห์กับค่า NDVI หรือ ค่าสีมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

 

กระบวนการทำงาน เมื่อดาวเทียมถ่ายภาพแล้ว จากนั้นจะประมวลผลแล้วนำเข้าสู่ระบบ โดยจะมีกระบวนการ คือ จิสด้าจะส่งสัญลักษณ์สีน้ำเงินเมื่อพบความเปลี่ยนแปลงของสีจากภาพดาวเทียมในรอบ 15 วัน แล้วทางระบบคัดกรองข้อมูลก็จะเข้าไปตรวจสอบว่ามีค่าสีที่วิเคราะห์ผิดพลาดหรือไม่ หากมีการบุกรุกจริง ระบบจะขึ้นสัญลักษณ์เป็นตัว N คือ New หมายถึง จุดใหม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ

น.ส.วัลยา บอกว่า เมื่อได้รับการตอบกลับมาเป็น N จะดำเนินการส่งรายงานไปถึง 2 ที่ คือ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วย ผ่าน 3 ช่องทาง คือ SMSผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แอพพลิเคชั่น และทางเว็บไซต์ เจ้าหน้าที่จะต้องกดรับแล้วส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบภายใน 1 วัน จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปนาฬิกาเพื่อรอเวลาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดำเนินงาน
3 – 5 วัน

 

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเขียนรายงานบนหน้าเว็บไซต์ระบุข้อมูลสรุปว่าพื้นที่ป่าส่วนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าเกิดสัญลักษณ์สีเทา คือ เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีการบุกรุกก็จะขึ้นให้เก็บข้อมูลไว้ว่าตรงจุดนี้มีค่าสีที่ผิดพลาดอยู่ ถ้ามีการบุกรุกซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตัดต้นไม้ไปแล้ว หรือกำลังดำเนินการสร้างสัญลักษณ์จะเปลี่ยนเป็นสีแดงรูปเลื่อย หากไม่มีการบุกรุกจะขึ้นเป็นสีเขียว เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานทับซ้อนกัน กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 7 วัน

 

 “สำหรับชาวบ้านสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ และร่วมกันรักษาป่าได้ โดยการเรียนรู้คู่มือผ่านแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ เพื่อช่วยแจ้งให้มีตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งเคยมีการบุกรุกมาก่อน หรือมีการเห็นผู้บุกรุกเข้าไปทำลายป่าก็จะสามารถกดรายงาน ตำแหน่งผ่านทางแอพพลิ เคชันได้ เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบตำแหน่งแล้วเข้าตรวจสอบ แต่จะต้องมีการบังคับให้ใส่เลขบัตรประชาชน ก่อนการกดรายงานตำแหน่ง เพื่อยืนยันตัวตนเป็นพยานได้ในกรณีที่มีการดำเนินคดี และเป็นการป้องกันความปั่นป่วน"

ทั้งนี้ แม้ว่าพื้นที่นั้นจะไม่มีการบุกรุกแต่หากมีการแจ้งด้วยเจตนาที่ดีทางเจ้าหน้าที่ก็จะไปตรวจสอบเพื่อเก็บข้อมูลและนำไปใช้ต่อไปในอนาคตได้ โดยในส่วนของการดำเนินคดี กรมป่าไม้จะเป็นคนแจ้งความและเขียนรายงานฟ้องคดีต่อไป


ขณะที่ผลการทวงคืนผืนป่าในช่วง ปี 2557-2560 สามารถทวงคืนป่าเฉลี่ยปี 150,000 ไร่ โดยอยู่มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 140,519 ไร่ พื้นที่ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ 428,452 ไร่ และพื้นที่ป่าชายเลน 39,764 ไร่ รวมทั้งหมด 608,735 ไร่ ผลงานส่วนหนึ่งมาจากการทดสอบระบบปฏิบัติการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 และมีการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นทั้งความแม่นยำของการประเมินค่าสี ซึ่งในช่วงการทดสอบระบบ พบการรายงานความเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าจำนวน 720 จุด ลงพื้นที่ตรวจสอบไปบางส่วนพบการบุกรุกแล้วกว่า 140 จุด โดยเว็บไซต์และแอพพลิเคชันนี้ จะมีการเปิดให้ใช้จริงในเดือน ต.ค.

ดังนั้นจึงนับเป็นตัวช่วยสำหรับเจ้าหน้าที่ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้เร็วขึ้น ทันต่อเหตุการณ์เนื่องจากกำลังคนมีจำนวนจำกัด เทคโนโลยีนี้จะช่วยในการวางแผน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง